หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

"ผู้ลี้ภัย"

Where are you ???

อยู่ "บ้าน" ดีๆ ไม่ชอบ ทำไมต้องหนี ?...นี่คงเป็นคำถามตัวใหญ่ที่สุดสำหรับคนที่ใช้สรรพนามแทนตัวรวมถึงคนที่กำลังไขว่คว้าสรรพนามแทนตัวว่า "ผู้ลี้ภัย"

DLife ฉบับนี้จึงชวนผู้อ่านไปไขปริศนาว่าด้วย "ผู้ลี้ภัย" กัน เพราะในหลายกรณี การลี้ภัยจาก "บ้าน" ที่เคยอยู่ อู่ที่เคยนอน เป็นไปเพราะความจำเป็นจริงๆ แต่ในหลายกรณีเช่นกัน เกิดจากการใช้เทคนิคทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นใน "บ้าน" ของตัวเอง

แบบว่าไปพัก "บ้าน" คนอื่นก่อน พอถึงวันของเราเมื่อไร...ค่อยกลับมาเคาะประตูก๊อกๆ ให้ใจตื่นเต้นว่า ใครกันนะ ที่กลับมา "บ้าน" ของเราหลังเดิม

"ผู้ลี้ภัย"...ใครกันเอ่ย ?

การที่จะเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) นั้น มิใช่อยู่ๆ จะเป็นกันได้เลย เพราะเมื่อพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย 1980 (The Refugee Act of 1980) ผู้ที่จะลี้ภัยได้ต้องมีคุณสมบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ 1951 (United Nations Convention Relating to the Status of Refugees) ซึ่งให้ความหมายของ "ผู้ลี้ภัย" ไว้ว่า

"เป็นบุคลที่อยู่นอกประเทศที่ตนมีสัญชาติ (ถ้าเป็นบุคคลไร้สัญชาติให้ถือประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ประจำแทน) เนื่องด้วยความกลัวที่ว่าอาจจะถูกประหัตประหารเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง และความกลัวนั้นไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่ตนมีสัญชาติ" (A person who owing to a well-founded fear of being persecuted for reasons of race, religion, nationality, membership of a particular social group or political opinion, is outside the country of his nationality and is unable or, owing to such fear, is unwilling to avail himself of the protection of that country; or who, not having a nationality and being outside the country of his former habitual residence as a result of such events, is unable or, owing to such fear, is unwilling to return to it...)

จะลี้ภัย...อย่างไรดี ?

ข่าวการลี้ (หนี) ภัยของอดีตผู้นำไทย อาจทำให้หลายคนสงสัย ...การลี้ภัยทำได้ง่ายๆ หรือ ?

แหม ! ก็ถ้าเป็นตาสีตาสายายมียายมาก็คง "ไม่ง่าย" เพราะตามขั้นตอนแล้ว ทำได้ 2 วิธี นั่นคือ

วิธีแรก ใครใคร่ลี้ภัยก็ยื่นเรื่องผ่านกระบวนการข้าหลวงใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก สิ่งที่ต้องพิจารณา ก็คือ ผู้ประสงค์จะลี้ภัยในกรณีนี้ ต้องเป็นการหลบหนีการจับกุมคุมขัง เนื่องจากผู้ลี้ภัยมีความเห็นแตกต่างทางการเมืองและประเด็นทางศาสนา โดยสามารถขอลี้ภัยไปที่ประเทศใดก็ได้ ที่เป็นสมาชิกของ อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ 1951 ซึ่งปัจจุบันมี 140 ประเทศ

อีกวิธีก็คือ การขอลี้ภัยโดยตรงต้องกระทำกับประเทศนั้นๆ ผ่านสถานทูตและกระทรวงการต่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า การขอที่ลี้ภัยทางการเมืองเป็นสิทธิของรัฐที่จะอนุญาตให้หรือไม่ให้ก็ได้ ถือเป็นสิทธิของบุคคลเช่นเดียวกันที่จะขอสิทธิลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลของผู้ที่จะลี้ภัยจะห้ามไม่ได้ ส่วนจะได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐ

...ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในว่า หากมีการขอลี้ภัยทางการเมืองแล้ว รัฐนั้นต้องอนุญาตเสมอไป !

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเอาไว้ว่า การขอลี้ภัยทางการเมืองขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ ว่าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าอย่างไร เช่น กฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย 1980 (The Refugee Act of 1980) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า ผู้ที่จะขอลี้ภัยได้ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคล้ายกับผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ 1951 ดังที่นิยามไว้ในหัวข้อที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้ที่จะขอลี้ภัยจะต้องยื่นแบบฟอร์มตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเข้าประเทศนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายของประเทศอาจจะมีการเรียกบุคคลผู้นั้นไปสอบถามก่อนพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ลี้ภัยหรือไม่ด้วย

สำหรับขั้นตอนสุดท้าย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะให้ผู้นั้นได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่

ในกรณีที่รัฐให้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ผู้นั้นจะได้สิทธิที่จะอยู่อาศัย เดินทางไปมาภายในประเทศนั้น รวมถึงสิทธิในการทำงาน ตลอดจนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ด้วย แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบและปฏิบัติตามที่กฎหมายประเทศนั้นกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาสถานะของผู้ลี้ภัยทางการเมือง

เฮ้อ ! ขั้นตอนฟังดูยุ่งยาก ...ชาวบ้านอย่างยายมียายมา ตาสีตาสา รู้ไว้ให้เท่าทันก็เท่านั้น เพราะคนธรรมดาคงไม่มีเหตุผลต้องลี้ภัยไปอยู่บ้านเมืองอื่น

ที่สำคัญ คงไม่มีใครอยากตกเป็น "ผู้ลี้ภัย" ใช่มั้ยล่ะ ?!

ประเทศยอดฮิตของผู้ลี้ภัย...ไปที่ไหนกัน ?

จากรายงานล่าสุดของคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าวเข้าเมืองแห่งสหรัฐ

(ยูเอสซีอาร์ไอ) ที่เผยแพร่ ณ กรุงวอชิงตันในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ทุกวันนี้มีผู้ลี้ภัยโดยรวมทั่วโลกเพิ่มจำนวนเป็น 14 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2550 ถือว่ามากที่สุดนับแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาจากอิรัก ที่มีประชาชนลี้ภัยสงครามออกนอกประเทศมากกว่า 550,000 คน และทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยชาวอิรักโดยรวมมีมากกว่า 2 ล้านคน

ส่วนประเทศที่มีผู้ลี้ภัยไปพึ่งพิงนั้นมีหลากหลาย แล้วแต่ว่ามีสนธิสัญญาระหว่างประเทศกันหรือไม่ แต่ที่นิยมและดูเลิศหรูสำหรับผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียง และมีเงินในกระเป๋ามาก มีทั้งอังกฤษ อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ชิลี สวิส ฯลฯ
 


แต่เมื่อเป็นผู้ลี้ภัย ใครเลยจะได้อะไรที่เลิศหรูดูดีไปซะทุกอย่าง บางครั้งก็ลี้ภัยก็เป็นเรื่องของ "หนีเสือปะจระเข้" เหมือนกัน เนื่องจากมีหลายประเทศทีเดียวที่มีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัย จนมีการจัดอันดับ 10 ดินแดนที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัย โดยการเปิดเผยจากรายงานการสำรวจสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2551 ที่จัดทำโดยกลุ่มองค์กรเอกชน คณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและคนต่างด้าวเข้าเมืองแห่งสหรัฐ (ยูเอสซีอาร์ไอ)

10 อันดับแรกของประเทศที่เป็นดินแดนเลวร้ายที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยนั้นประกอบด้วยชาติเอเชียถึง 5 ชาติ คือ จีน, อินเดีย, มาเลเซีย, บังกลาเทศ และไทย ส่วนที่เหลือคือ อิรัก, เคนยา, รัสเซีย, ซูดาน และยุโรป

แบ่งแยกตามด้านต่างๆ ซึ่งหากดูด้านการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศและการปกป้องผู้ลี้ภัย ประเทศที่ได้คะแนนน้อยคือ... ไทย จีน และมาเลเซีย

หากดูเรื่องผลการศึกษาด้านสภาพการกักขังผู้ลี้ภัยและการดำเนินคดีผ่านกระบวนการยุติธรรม ประเทศที่ได้คะแนนน้อยคือ... บังกลาเทศ จีน

หากจะดูว่ารัฐบาลนั้นๆ อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสดำเนินชีวิตหรือไม่ ประเทศที่ได้คะแนนน้อย คือ... มาเลเซีย บังกลาเทศ และเนปาล

ขณะที่การละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัยที่พบคือ การผลักไสให้ผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญความตาย ความรุนแรง และถูกประหาร หรือปล่อยให้คนเหล่านี้เข้าประเทศมาเผชิญกับสภาพชีวิตที่ถูกเพิกถอนสิทธิและถูกทอดทิ้งอย่างไร้ค่า

คนดังลี้ภัย...เขาเป็นใครหนอ ?

มาดูกันว่า มีบุคคลที่มีชื่อเสียงคนใดบ้างที่เขาใช้สิทธิการลี้ภัยกัน

เริ่มจากที่เมืองไทยบ้านเราก่อน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม (14 ก.ค.2440-11 มิ.ย.2507)

นี่คือ นายกรัฐมนตรีที่มีเวลาดำรงตำแหน่งรวมกันมากที่สุดของไทย คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน ต้องลี้ภัยก็เพราะในวันที่ 16 ก.ย.2500 ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ทำรัฐประหาร ซึ่งจอมพล ป.ได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน เดินทางไปประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจอมพล ป.และครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ด้วยทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญคุณ เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบกัน จอมพล ป.ก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่กรรม

ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ (11 พ.ค.2443-2 พ.ค.2526) หรือหลวงประดิษฐมนูธรรม

รัฐบุรุษผู้นี้เป็นผู้นำสมาชิกคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี,

ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, เป็นรัฐบุรุษอาวุโส นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ต้องลี้ภัยจากประเทศไทย เพราะว่าเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารพยายามจะจับกุมตัวนายปรีดีกับครอบครัว แต่นายปรีดีทราบข่าวก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงหนีทัน และได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ สองปีถัดมาก็ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และหวนกลับมาอีกครั้งในเหตุการณ์กบฏวังหลวง แต่กระทำการไม่สำเร็จ จึงลี้ภัยอีกครั้ง และได้พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 11 ปี ก่อนจะลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น ณ บ้านพักชานกรุงปารีส

ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มี.ค.2458-28 ก.ค.2542)

ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เคยเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอดีตเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ท่านต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เนื่องจากว่าในปี พ.ศ.2519 ช่วงที่ อ.ป๋วยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกล้อมปราบ หนึ่งในเหตุผลของการอ้างความชอบธรรมของผู้สร้างความรุนแรงครั้งนี้ก็คือ การกล่าวหาว่านักศึกษาเหล่านี้เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่ง อ.ป๋วยก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้ายด้วยเช่นกัน ทำให้ทางฝ่ายขวาตามล่าตัว อ.ป๋วยจึงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เดินทางออกนอกประเทศไปยังยุโรป ในที่สุดก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ประเทศอังกฤษ...จนเมื่อภาวะอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย จึงกลับมาเยี่ยมเมืองไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.2530 โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา หลังจากนั้นก็มาเยือนเมืองไทยอีกในปี พ.ศ.2536, พ.ศ.2538 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2540

อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2542 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้ทิ้งมรดก นั่นคือ ความงามในชีวิตของอ.ป๋วย อันได้แก่ "ความดี ความจริง ความงาม" ให้คนรุ่นหลังปฏิบัติตามสืบไป

แลมองรอบโลกกัน ว่ามีใครลี้ภัยบ้าง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (14 มี.ค.1879-18 มิ.ย.1955)

เป็นที่รู้กันว่านักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกผู้คิดทฤษฎีสัมพัทธภาพผู้นี้เป็นชาวยิว เขาเกิดในเมืองเล็กๆ ที่ชื่ออุลม์ ในเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1879 มีพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้า สนใจเครื่องยนต์กลไกนับแต่จำความได้ ต่อมาไอสไตน์เปลี่ยนสัญชาติจากเยอรมันเป็นสวิส และทำงานในสำนักงานสิทธิบัตร ใน

กรุงเบิร์น เรียนต่อไปด้วย ทำงานวิจัยไปด้วย และจบปริญญาเอกในปี 1905 ไอสไตน์เสนอแนวคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ อธิบายเอกภพเป็นสี่มิติ พื้นฐานสำคัญในการสืบค้นกลไกเอกภพ เกิดขึ้นช่วงนี้ และสมการบางตัวจากทฤษฎีสัมพัทธภาพ อธิบายการแตกตัวของนิวเคลียสกัมมันตภาพรังสี ซึ่งนี่เองถูกนำไปพัฒนาเป็นระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา-นางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น อย่างที่บอกแต่ต้นว่าเขาเป็นชาวยิว ดังนั้นในปี 1933 เมื่อนาซีเรืองอำนาจ เขาได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และย้ายไปอยู่ที่พรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
 


ออกุสโต ปิโนเชต์

นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารชิลีที่ก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลมาร์กซิสต์ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 1973 โดยอ้างว่าต้องการช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์ แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ปิโนเชต์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดี พรรคการเมืองมาร์กซิสต์ก็กลายเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย สิทธิพลเรือนถูกละเมิด มีการใช้มาตรการควบคุมกลุ่มการเมือง นักวิชาการ และประชาชน อย่างหนัก จนปัญญาชนหลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ

ในช่วงที่ปิโนเชต์ปกครองชิลีนั้น มีผู้คนราว 3,000 คนเสียชีวิต ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนถูกทรมาน และอีกราว 200,000 คนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เมื่อถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1988 ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนขับไล่ปิโนเชต์ ส่งผลให้เขายอมลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1990 หลังจากนั้นเขาได้ลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และถูกจับกุมตัวเพื่อถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 1998 ในระหว่างที่พักฟื้นหลังเข้ารับการผ่าตัดหลัง ทว่าคณะแพทย์สรุปว่า ปิโนเชต์อ่อนแอเกินกว่าจะเข้ารับการพิจารณาคดี และทางการอังกฤษก็ตัดสินใจส่งปิโนเชต์กลับชิลีในปี 2000 เขาถูกพิจารณาคดีในข้อหาต่างๆ อาทิ ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ หลบเลี่ยงภาษี และฟอกเงิน แต่ปิโนเชต์ก็หลุดรอดจากการถูกดำเนินคดีในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อศาลตัดสินว่าเขาวิกลจริต ปีโนเชต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2006 ในวัย 91 ปี ด้วยโรคหัวใจ

เซตาโน เวโลโซ Caetano Veloso (7 ส.ค.1942-ปัจจุบัน)

เวโลโซ เป็นนักดนตรี นักเขียน นักแต่งเพลง และเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เขาเกิดและเติบโตในบราซิล บทเพลงของเขาถูกทางการบราซิลมองว่ามีเป้าหมายทางการเมือง เขาถูกจับกุม 2 ครั้ง และลี้ภัยไปอังกฤษในปี 1969 ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่บราซิลอีกครั้งในปี 1972

อัลเบอร์โต ฟูจิโมริ (28 ก.ค.1938-ปัจจุบัน)

อัลเบอร์โต ฟูจิโมริ อดีตประธานาธิบดีเปรู ฟูจิโมริเป็นลูกครึ่งเปรู-ญี่ปุ่น ถือสองสัญชาติ คือเปรู และญี่ปุ่น พ่อของเขาเป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในเปรู และแต่งงานกับแม่ที่เป็นคนเปรู เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของเปรูเมื่อปี 2543 พร้อมกับผลตกทอดมาจากประธานาธิบดีคนก่อนคือ เศรษฐกิจเปรูตกต่ำมาก มีปัญหาผู้ก่อการร้ายออกมาก่อความไม่สงบ ประชาชนก็ออกมาประท้วง แต่ไม่นานฟูจิโมริก็สามารถควบคุมอำนาจทางการทหารได้ และ 2 ปีต่อมาเขาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ใช้อำนาจทหารควบคุมสื่อและจับกุมผู้นำฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ความสงบกลับคืนมา เศรษฐกิจเริ่มขยายตัว ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมชมชอบเขามาก ปี 2538 เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมัยที่ 2 และเป็นสมัยที่ 3 ในปี 2543

ฟูจิโมริได้ตั้งองค์กรสืบราชการลับ โดยมีสมุนคู่ใจคือ วลาดิเมียร์ มองเตสซิโนส์ ใช้อำนาจรัฐควบคุมสื่อ องค์กรอิสระ และศาล ในที่สุดฝ่ายตรงข้ามก็นำเทปและวิดีโอลับที่มองเตสซิโนส์ถ่ายและอัดไว้ระหว่างทำสัญญาติดสินบนให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ศาล สื่อมวลชน และผู้มีอิทธิพลให้อยู่ฝ่ายเดียวกับตน อีกทั้งในโครงการต่างๆ มาเปิดเผย ทางการเปรูได้ตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน ฟูจิโมริต้องลงจากตำแหน่งแล้วลี้ภัยไปอยู่ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลเปรูได้ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งตัวอดีตประธานาธิบดีมาดำเนินคดีในประเทศ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธเพราะถือว่าฟูจิโมริมีสัญชาติญี่ปุ่น ทั้งยังอนุญาตให้เขาอาศัยอยู่ในประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ในปี 2549

ฟูจิโมริพยายามจะหาทางกลับเข้าเปรูเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ถูกจับกุมตัวได้เสียก่อนที่ประเทศชิลีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ถูกศาลตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งและพยายามผลักดันให้เขาออกนอกประเทศ นอกจากนั้นเขายังถูกศาลสูงเปรูตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี เนื่องจากใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการตรวจค้นอพาร์ตเมนต์ของภรรยาหัวหน้าสายลับของเขา ในช่วงที่เขาใกล้หมดอำนาจเมื่อปี 2543 นอกจากนี้ยังถูกปรับเป็นเงิน 135,000 เหรียญสหรัฐ โดยภายหลังเขายื่นอุทธรณ์แต่ถูกปฏิเสธ นอกจากนั้นฟูจิโมริยังมีคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีสังหารหมู่ประชาชน 25 คน ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี 2533 ถึง 2543 ซึ่งเขาอาจถูกตัดสินจำคุก 30 ปีในคดีนี้

เบนาซีร์ บุตโต (21 มิ.ย.1953-27 ธ.ค.2007)

เบนาซีร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1953 เป็นบุตรสาวของซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 1971-1977 ที่ถูกรัฐประหารและประหารชีวิตโดยนายพลมูฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัก เธอลี้ภัยไปยังอังกฤษในปี 1984 และได้ตั้งที่ทำการพรรคประชาชนปากีสถาน และขึ้นทำหน้าที่ผู้นำพรรคแทนเบกุม นุสรัต บุตโต แม่ของเธอ บุตโตเดินทางกลับสู่ปากีสถานในปี 1986 และชนะการเลือกตั้ง และเพียงสองปีให้หลัง เธอก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ในวัย 35 ปี

จนกระทั่งปี 1990 ก็ถูกสั่งถอดถอนด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น แต่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสอง ในปี 1993 หลังจาก นาวาซ ชารีฟ ถูกบังคับให้ลาออกภายหลังทะเลาะกับประธานาธิบดี ปี 1999 บุตโตและอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี สามี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี และปรับเงินจำนวน 8 ล้าน 6 แสนเหรียญสหรัฐ ด้วยข้อหารับเงินจากบริษัทสัญชาติสวิสเพื่อติดสินบนในการหลบเลี่ยงภาษี ศาลสูงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเวลาต่อมา และตัวเธอเองยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ถูกสร้างขึ้นโดยฝ่ายตรงข้าม ภาพลักษณ์ของเธอในฐานะผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยถูกโจมตีด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และฟอกเงิน แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีก็มีส่วนผลักดันเธอไปสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน บุตโตถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการขาดธรรมาภิบาลและเล่นการเมืองเพื่อตอบสนองตัวเอง

พอปี 1998 บุตโตลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในดูไบ และเดินทางกลับสู่ปากีสถานเพื่อรณรงค์หาเสียงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2007 เพื่อลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2008 โดยหวังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 แต่ก็ถูกลอบสังหารในวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ระหว่างการหาเสียงที่เมืองราวัลพินดี

นาวาซ ชารีฟ (25 ธ.ค.1949-ปัจจุบัน)

นาวาซ ชารีฟ เป็นนักการเมืองของพรรคมุสลิมแห่งปากีสถาน ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน 2 สมัย คือในช่วง 1990-1993 และสมัยที่สอง 1997-1999 การพ้นจากตำแหน่งของนาวาซทั้งสองสมัย เกิดขึ้นเพราะถูกถอดถอนและถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกันกับที่นางเบนาซีร์ บุตโต ต้องเผชิญ จนทำให้นาวาซ ชารีฟ ลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 1999 ถึงปี 2007 ที่ประเทศอังกฤษ แล้วในปี 2007 เขาประกาศว่าจะกลับมาเล่นการเมืองที่ปากีสถานอีก :D

- การเป็นผู้ลี้ภัยถ้าอยู่เฉยๆ คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าปากไม่ดี ก็มีสิทธิสร้างความร้าวฉานทางการเมืองระหว่างประเทศได้ ดูอย่างนักธุรกิจใหญ่ที่ชื่อ บอริส เบเรซอฟสกี้ เขามีธุรกิจระดับพันล้านที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในอังกฤษ ดันพูดออกมาอย่างเต็มปากว่า กำลังวางแผนที่จะโค่นอำนาจ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (สมัยดำรงตำแหน่ง) จนทำให้รัฐบาลมอสโกนั่งไม่ติดส่งซิกให้อังกฤษช่วยดำเนินการกับชายปากมากคนนี้ที ซึ่งนั่นไม่เพียงทำให้สถานะการเป็นผู้ลี้ภัยสั่นคลอน แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลรัสเซีย มีแนวโน้มว่าจะดำดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น

- วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น "วันผู้ลี้ภัยโลก" โดยวันนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2001 ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ แต่ละประเทศจะมีวันผู้ลี้ภัยโลกเป็นของตนเอง เช่น Africa Refugee Day

- นายอันโตนิโอ กูเตเรส ข้าหลวงใหญ่ประจำสำนักงานฝ่ายกิจการผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR กล่าวเตือนเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกว่า ความไม่แน่นอนด้านราคาน้ำมันและอาหารอาจส่งผลให้

ผู้ลี้ภัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะขาดแคลนสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และนอกจากปัจจัยทางสงครามแล้ว ปัญหาใหม่ในเวลานี้คือ ภาวะโลกร้อน และความยากจน ซึ่งจะส่งผลให้วิกฤตผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นด้วย

- นี่คือเรื่องจริง !...วิถีชีวิตของ "ผู้พลัดถิ่นภายใน" (IDPs) ของประเทศพม่า ภายใต้สถานการณ์เผด็จการทหารที่กระทำความรุนแรงต่างๆ นานา ไม่ได้ทำให้นักศึกษาหนุ่มชาว

ปะด่อง (หรือที่เรียกกันติดปากว่า กะเหรี่ยงคอยาว) ผู้มีชื่อว่า ปาสกัล ขู เชว ย่อท้อต่อชีวิต เพราะแม้ว่าจะมีชีวิตหลบหลีกทหารอยู่ในป่า แต่พอมีเวลาว่าง เขาจะอ่านวรรณกรรมอังกฤษที่เคยเรียนมาสมัยเป็นนักศึกษา จนมีอยู่วันหนึ่ง เขาได้ลองส่งจดหมายไปหาอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เขาเคยเจอตอนที่ทำงานในร้านอาหารในเมือง โชคดีมาถึง อาจารย์ผู้นั้นรับตัวเขาไปเรียนต่อที่คณะวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนจบระดับปริญญาตรีในที่สุด นี่แหละ ชีวิตถ้าไม่สิ้นหวัง สิ่งดีๆ จะเข้ามาเสมอ (อ่านเรื่องราวของเขาได้ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นเอง ชื่อหนังสือว่า "มาจากแดนผีดิบ : ปาฏิหาริย์แห่งโชคชะตาของพม่าคนหนึ่ง" (From the Land of Green Ghosts : A Burmese Odyssey) แปลโดย ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล สำนักพิมพ์คบไฟ)

คำสำคัญที่เกี่ยวกับการลี้ภัย

Asylum Seekers คือ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย และอยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น อย่างเช่น กรณีที่อดีตนายกรัฐมตรีของไทยกำลังกระทำในขณะนี้

Stateless Persons บุคคลไร้รัฐ คือ บุคคลที่ไม่มีข้อเท็จจริงอันทำให้ได้สัญชาติและความเป็นพลเมืองของรัฐใดเลย บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในรัฐใด เป็นคนต่างด้าว (aliens) และเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายสำหรับทุกรัฐ อย่างเช่น ชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย พวกเขาเหล่านี้ได้รับการปฏิเสธความเป็นคนสัญชาติพม่าจากรัฐบาลพม่า

Internally Displaced Persons (IDPs) ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ถูกบังคับให้ละทิ้งที่อยู่อาศัย เพื่อหลบเลี่ยงผลกระทบจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์ โดยที่คนเหล่านี้ไม่สามารถหนีข้ามไปยังรัฐอื่นได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ไร้ซึ่งความปลอดภัยภายในประเทศตนเอง แต่ก็ไม่สามารถลี้ภัยไปที่ประเทศอื่นได้

United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) คือ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มีภารกิจหลักคือ เป็นผู้นำและประสานงานในการรวบรวมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เพื่อปกป้องและแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลก และการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะสิทธิที่จะอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในรัฐอื่น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะส่งกลับประเทศต้นทางตามที่ผู้ลี้ภัยต้องการ หรือเพื่อที่จะส่งไปยังประเทศที่สาม

ปัจจุบัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (หน้าพิเศษ)