หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ฐานันดรของเทวดา

คำว่า angelo ( เทวดา / ทูตสวรรค์ ) มาจากคำในภาษากรีกที่ว่า angelos ซึ่งแปลว่าผู้ถือสาร / ผู้ส่งข่าว เทวดาหรือทูตสวรรค์ก็มีลำดับชั้นหรือฐานันดรด้วยเหมือนกันซึ่งเรียกกันว่าคณะ ในยุคของดีโอนีจีผู้พิพากษาเทียม มีนักเขียนคริสตชนคนหนึ่งในศตวรรษที่ 4 เป็นคนแรกที่เขียนในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า “ เทววิทยาเพ่งฌานภาวนาและฐานันดรสวรรค์ ” ได้ให้นิยามอย่างชัดเจนและอย่างพิถีพิถันแก่หน้าที่และฐานันดรของเทวดาเป็นเก้าฐานันดร

ปิตาจารย์หลายท่าน เช่นนักบุญเกรโกรีองค์ใหญ่และนักบุญยวง แห่งดามาสเชน นักบุญโทมัส อากวีนาสและท่านอื่นๆก็ได้ดำเนินตามทฤษฎีนี้ คณะและลำดับทั้งเก้าชั้นของเทวดามีดังนี้
เทวดา ( วว . 5,11 ดนล . 7,10)
อัครเทวดา ( ธส . 4,16)
ชั้นบัลลังก์
ชั้นการปกครอง
ชั้นนาย
ชั้นอำนาจ ( อฟ . 1,21 ปต . 3,22)
ชั้นคุณงามความดี
ชั้นเครูบิม ( อสค . 10,1-10 ปฐก . 3.24)
ชั้นเซราฟิม อสย . 6,2-6)

ว่ากันว่าพวกเทวดาอยู่กันตามลำดับชั้นเหล่านี้คือ ชั้นเทวดา ชั้นอัครเทวดา ชั้นบัลลังก์ ชั้นปกครอง ชั้นนาย ชั้นอำนาจ ชั้นคุณงามความดี ชั้นเครูบิมและชั้นเซราฟิม

ฐานันดรของบรรดาเทวดาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางธรรมชาติ ( เหมือนกับที่มนุษย์เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ) นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า ความแตกต่างกันของเทวดาขึ้นอยู่กับหน้าที่ของแต่ละท่าน แต่ตามความคิดของนักบุญโทมัส อากวีนาสมันขึ้นอยู่ชั้นของความรักและความศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละท่าน เช่นเดียวกันกับที่มนุษย์มีความแตกต่างกันในชั้นของความศักดิ์สิทธิ์ ในเรื่องนี้นักบุญโทมัสเห็นว่า มนุษย์สามารถที่จะเท่าเทียมกับหรืออาจจะสูงกว่าเทวดาก็ได้ เช่นพระแม่มารีทรงสูงกว่าเทวดาทั้งหลาย ไม่ใช่ทางชั้นตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมนุษย์แล้วแม่พระย่อมต่ำกว่าเทวดา แต่เพราะชั้นของความศักดิ์สิทธิ์ และพระสงฆ์มีฐานันดรที่สูงกว่าเทวดาเพราะศักดิ์ศรี

ท่านได้เป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดาเทวดาหรือเปล่า ?
ท่านรักเทวดาทั้งหลายไหม ?
 

หน้าที่ของบรรดาเทวดา

เราทราบว่ามีเทวดาอุปถัมภ์ของชาติต่างๆดังที่บรรดาปิตาจารย์สอนเรานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาแล้ว เช่นดีโอนีจีเทียม ออรีเจน นักบุญบราซิล นักบุญยวง คริสโซสโตม ฯลฯ นักบุญเกลเมนแห่งอาเล็กซานเดรียกล่าวว่า “ พระเจ้าทรงบัญชาให้บรรดาเทวดาแยกย้ายกันไปอยู่ตามชาติต่างๆ ” (Stomata VII) ในดาเนียล 10.13-21) กล่าวถึงเทวดาอารักขาพวกกรีกและพวกเปอร์เซีย นักบุญเปาโลกล่าวถึงเทวดาอารักขามาซิโดเนีย ( กจ . 16.9) นักบุญมีคาแอลถือว่าเป็นผู้อารักขาประชากรอิสราแอล ( ดนล . 10,21)

ในการประจักษ์มาที่ฟาติมาในปี 1916 เทวดาของปอร์ตุเกตได้มาหาเด็กทั้งสามถึงสามครั้ง กล่าวว่า “ เราเป็นเทวดาแห่งสันติ เทวดาของประเทศปอร์ตุเกต ” ความศรัทธาต่ออารักขเทวดาของอาณาจักรสเปนได้แผ่ขยายไปทั่วแหลมโดยพระสงฆ์ชาวสเปนที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่ง นามว่ามานูแอล โดมิงโก ซอล ท่านได้แจกจ่ายใบโฆษณาเป็นพันๆแผ่นที่มีรูปของท่านพร้อมกับบทภาวนาเพื่อเป็นการเผยแพร่นพวารพร้อมกับได้ก่อตั้งสมาพันธ์ระดับชาติของเทวดาแห่ง สเปน และมีหลายๆประเทศในโลกนี้ที่เป็นเช่นนี้

พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 1986 ว่า “ เราพอที่จะยืนยันได้ว่าหน้าที่ของบรรดาเทวดาเป็นเสมือนทูตของพระเจ้าทรงชีวิตที่สัมพันธ์ไม่เฉพาะกับแต่ละบุคคลหรือกับบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรเท่านั้น แต่กับคนทั้งชาติด้วย ”

ยังมีเทวดาอารักขาพระศาสนจักรต่างๆอีกด้วย หนังสือวิวรณ์กล่าวถึงเทวดาของเจ็ดพระศาสนจักรของเอเชีย ( วว . 1.20) มีนักบุญหลายองค์ที่บอกเราเกี่ยวกับความเป็นจริงอันนี้ อันเกิดจากประสบการณ์ของท่านและยังพูดอีกว่า บรรดาเทวดาที่อารักขาพระศาสนจักรต่างๆจะอันตรธานไป เมื่อจะมีการทำลายเกิดขึ้น ออรีเจนกล่าวว่า แต่ละสังฆมณฑลมีพระสังฆราชสององค์ดูแล องค์หนึ่งเห็นได้ อีกองค์หนึ่งมองไม่เห็น องค์หนึ่งเป็นมนุษย์ อีกองค์หนึ่งเป็นเทวดา นักบุญยวง คริสโซสโตม ก่อนที่จะถูกเนรเทศ ได้เข้าไปในวัดเพื่อสั่งลาเทวดารักษาพระศาสนจักร นักบุญฟรังซิส เดอซาลส์ เขียนในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า (Filotea) ว่า “ จงทำความรู้จักกับเทวดา รักและเคารพเทวดาของสังฆมณฑลที่ไปหา ” พระคุณเจ้ารัตตีซึ่งต่อมาเป็นพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสังฆราชของเมืองมิลานในปี 1921 เมื่อมาถึงเมืองก็ได้ก้มลงจูบพื้นดินพร้อมกับฝากตัวไว้กับอารักขเทวดาของเมือง คุณพ่อเปโตร ฟาโบร คณะเยซูอิต เพื่อนร่วมงานของนักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา ได้ยืนยันว่า “ ขณะเดินทางกลับจากประเทศเยอรมันนั้นต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านของพวกนอกรีต ข้าพเจ้ามีความบรรเทาใจมากที่ได้ทักทายกับเทวดาอารักขาวัดต่างๆที่ข้าพเจ้าต้องเดินผ่าน ” ในชีวิตของนักบุญยวง เวียนเน เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสของเมืองอาร์ส ก็เดินทางไปรับตำแหน่งเมื่อเห็นหอระฆังวัดแต่ไกล ท่านก็ได้คุกเข่าลง เพื่อจะได้มอบตัวของท่านไว้กับอารักขเทวดาของวัดใหม่ของท่าน

เช่นเดียวกันทุกแห่งต่างก็มีอารักขเทวดาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด เป็นแขวง เป็นเมืองหรือชุมชน คุณพ่อที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสองค์หนึ่งที่มีชื่อว่าลามีกล่าวอย่างยืดยาวเกี่ยวกับอารักขเทวดาของชนบทของเมืองและของครอบครัวต่างๆ นักบุญบางองค์กล่าวว่า แต่ละครอบครัว แต่ละคณะนักบวชต่างก็มีอารักขเทวดาพิเศษด้วยกันทั้งนั้น

ท่านได้เคยร้องหาอารักขเทวดาของครอบครัวของท่านเป็นบางครั้งบางคราวหรือไม่ ? แล้วอารักขเทดาของคณะของท่านล่ะ ? แล้วของวัดหรือของเมืองหรือของชนบทล่ะ ? ที่สำคัญคืออย่าลืมว่าที่ตู้ศีลที่พระเยซูเจ้าประทับในแต่ละวัดนั้น จะมีเทวดาจำนวนล้านๆที่กราบนมัสการพระเจ้าของท่านอยู่ นักบุญยวง คริสโซสโตม ได้เคยเห็นหลายครั้งว่า วัดเต็มไปด้วยเหล่าเทวดาเป็นต้นเวลาที่มีการถวายบูชามิสซาอยู่ เป็นต้นเวลาเสกศีล จะมีเทวดาจำนวนมากมายที่มาเฝ้าพระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่บนพระแท่นและในเวลาที่พระสงฆ์หรือ ศาสนบริกรกำลังแจกพระกายของพระเยซูเจ้าอยู่ นักเขียนโบราณชาวเมเนียนคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ยวง มันดากูนี เขียนในบทเทศน์บทหนึ่งของท่านว่า “ ไม่ทราบหรือว่าอย่างน้อยที่สุดเวลาเสกศีลสวรรค์จะเปิดออกและพระคริสตเจ้าเสด็จลงมา กองทัพสวรรค์จะมาห้อมล้อมพระแท่นที่ถวายบูชามิสซา และทุกคนต่างก็เต็มไปด้วยพระจิตเจ้า ” บุญราศีอันเยลา ดา ฟอลีโญ เขียนว่า “ พระบุตรของพระเจ้าประทับอยู่บนพระแท่นห้อมล้อมด้วยเทวดาเป็นจำนวนมากมาย ”

เพราะเหตุนี้นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีจึงได้กล่าวว่า “ โลกจะต้องสั่นสะเทือนและสวรรค์ทั้งหมดจะต้องตื่นเต้นอย่างที่สุดเมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงปรากฏมาบนพระแท่นในมือของพระสงฆ์ … เราจึงต้องเลียนแบบบรรดาเทวดาที่มายืนล้อมรอบพระแท่นทุกครั้งที่มีการถวายบูชามิสซา ”

“ บรรดาเทวดาจะอยู่เต็มวัดในช่วงเวลานั้น ล้อมรอบพระแท่นและพิศเพ่งด้วยความมหัศจรรย์ใจต่อความสง่างามและความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ” ( น . ยวง คริสโซสโตม ) นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า “ บรรดาเทวดาจะยืนอยู่รอบๆเพื่อจะได้ช่วยพระสงฆ์เวลาที่ท่านถวายบูชามิสซา ” เราจึงสมควรที่จะร่วมกับการนมัสการของพวกท่านและขับร้องบทสิริโรจนาและบทศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทำเช่นนี้แล้วพระสงฆ์องค์หนึ่งกล่าวว่า “ เมื่อข้าพเจ้าคิดถึงเทวดาระหว่างถวายบูชามิสซา ข้าพเจ้าก็รู้สึกมีความสุขอีกครั้งและความศรัทธาอีกครั้งเมื่อถวายบูชามิสซา ”

นักบุญซีริลแห่งอาเล็กซานเดรียกล่าวถึงบรรดาเทวดาว่า “ เป็นอาจารย์แห่งการนมัสการ ” เทวดาจำนวนล้านๆที่กราบนมัสการพระเจ้าในศีลมหาสนิท แม้ว่าจะเป็นแผ่นศีลแผ่นเดียวในที่สุดปลายแผ่นดินก็ตาม เหล่าเทวดาก็จะพากันกราบนมัสการพระเจ้า แต่ก็ยังมีเทวดาอีกจำนวนมหาศาลที่รับหน้าที่พิเศษในการกราบนมัสการที่หน้าบัลลังก์ในสววรรค์ ตามที่เราอ่านพบในหนังสือวิวรณ์ว่า “ ทูตสวรรค์ทั้งหมดยืนห้อมล้อมพระที่นั่ง รอบผู้อาวุโสและสัตว์ทั้งสี่ แล้วพวกเขาก็หมอบกราบลงเบื้องหน้าพระที่นั่งพลางสรรเสริญพระเจ้าว่า “ สาธุ ขอทรงพระเจริญด้วยพระสิริ พระปัญญาและการขอบพระคุณ ขอทรงพระเจริญด้วยพระเกียรติ พระอำนาจและพระเดชานุภาพอยู่ตลอดกาลเถิด สาธุ ” ( วว .7,11-12)

พวกเทวดาเหล่านี้ต้องเป็นพวกเซราฟิมเป็นแน่ที่อยู่ใกล้พระบัลลังก์ของพระเจ้า เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ดังที่อิสยาห์ได้กล่าวไว้ว่า “ ข้าพเจ้าเห็นพระเจ้าประทับบนพระที่นั่งอันสูงส่ง … มีเซราฟิมเฝ้าแหนอยู่รอบพระเจ้า ทุกตนมีปีกหกปีก … แล้วพากันร้องว่าศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าจอมจักรวาล แผ่นดินเต็มไปด้วยพระสิริมงคลของพระองค์ ” ( อสย . 6,1-3)

ท่านได้กราบนมัสการพระเจ้าพร้อมกับบรรดาเทวดาต่อหน้าพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทบ้างหรือไม่ ?
 

อารักขเทวดา

เทวดาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ติดตามเราไปทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตั้งแต่เวลาที่เราเกิดไปจนถึงเวลาที่เราตาย จนถึงเวลาที่เราจะได้รับความบรมสุขอย่างเต็มที่จากพระเจ้า แม้กระทั่งเวลาที่เราอยู่ในไฟชำระ ท่านก็ยังอยู่เคียงข้างเราเพื่อให้ความบรรเทาใจ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เราในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ กระนั้นก็ดีสำหรับบางคนแล้ว อารักขเทวดาเป็นเพียงแต่ธรรมประเพณีที่ศรัทธาสำหรับผู้ที่มีความต้องการเท่านั้น ไม่เป็นที่ปรากฏชัดแจ้งในพระคัมภีร์หรือในพระธรรมคำสอนของพระศาสนจักรและบรรดานักบุญที่พูดถึงอารักขเทวดาก็เป็นเพียงแต่การเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น นักบุญบางท่านได้เห็นเทวดาด้วยตาของตัวเองและบางท่านก็ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอารักขเทวดาดังที่เราจะได้เห็นในตอนต่อไป

ถ้าอย่างนั้นเรามีอารักขเทวดากี่องค์กันแน่ อย่างน้อยก็หนึ่งองค์ . ซึ่งก็เป็นการเพียงพอ แต่สำหรับบางคนเพราะภาระหน้าที่ของเขาเช่นพระสันตะปาปาหรือผู้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในขั้นสูง ก็อาจจะมีมากกว่าหนึ่งองค์ก็ได้ มีนักบวชหญิงท่านหนึ่งที่บอกว่า พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เธอเห็นว่าเธอมีอารักขเทวดาสามองค์พร้อมกับบอกชื่อให้ด้วย นักบุญ มาร์การิตา มารีอา อาลาก๊อก เมื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ขั้นหนึ่งแล้วพระเจ้าก็ประทานอารักขเทวดาองค์ใหม่ให้ที่พูดกับเธอว่า “ ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในเจ็ดที่ยืนอยู่ใกล้ๆพระบัลลังก์ของพระเจ้าและเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งในไฟที่เผาดวงพระหฤทัยของพระเยซูคริสตเจ้าและความประสงค์ของข้าพเจ้าคือต้องการที่จะให้เธอได้รับทราบในเรื่องนี้ว่าเธอจะรับไฟนี้มากสักเท่าใด ” ( บันทึกความทรงจำถึง M.Saumaise)

พระวาจาของพระเจ้ามีว่า “ ดูเถิด เราใช้ทูตของเราเดินนำหน้าพวกเจ้าเพื่อคอยระวังรักษาพวกเจ้าตามทาง นำไปถึงที่ซึ่งเราได้เตรียมไว้ จงเอาใจใส่ฟังคำพูดของทูตนั้นและเชื่อฟังคำของเขา อย่าฝ่าฝืนเขา เพราะเขาจะไม่ยกโทษให้เจ้าเลย ด้วยว่าเขากระทำในนามของเรา ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังเสียงของเขาจริงๆและทำทุกสิ่งที่เราสั่งไว้ เราจะเป็นศัตรูต่อศัตรูของพวกเขาและเป็นปฏิปักษ์ต่อปฏิปักษ์ของพวกเจ้า ” ( อพย . 23,20-22) “ บางทีทูตสวรรค์มาเพื่อช่วยเหลือเขา เพื่อแถลงแก่มนุษย์ว่า อะไรถูกสำหรับเขา ” ( โยบ 33,23) “ เพราะเทวทูตของเราจะอยู่กับเจ้าและจะเป็นผู้อารักขาปกป้องชีวิตของพวกเจ้าไว้ ” ( บารุก 6,6) “ ทูตสวรรค์จะขจัดปัดไพรี จากผู้ที่คารวะในพระองค์ ” ( สดด . 34.,8) หน้าที่ของเทวดาคือ “ พระจะให้ทูตสวรรค์พระองค์มา เฝ้ารักษาท่านไว้ได้เป็นเพื่อน ” ( สดด . 91.11) พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ เทวดาของพวกเขา ( พวกเด็กๆ ) ที่อยู่ในสวรรค์เฝ้าพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ” ( มธ . 18,10) อารักขเทวดาจะช่วยเราดังที่ได้เคยช่วยอาซารียาและเพื่อนๆของเขาและปัดเป่าเปลวไฟที่ร้อนจัดมาแล้ว “ แต่เทวดาของพระเจ้าได้ลงมาในเตาไฟข้างๆอาซารียาและเพื่อนๆของเขาและปัดเป่าเปลวไฟออกและพัดลมเย็นเข้ากลางเตาไฟและความเย็นราวกับลมและน้ำค้างนำมาจนทำให้ไฟไม่อาจแตะต้องพวกเขาได้หรือทำให้พวกเขาต้องเจ็บปวดหรือทุกข์ร้อนแต่ประการใด ” ( ดนล .3,49-50)

เทวดาจะช่วยเหลือเราแบบเดียวกันกับที่ได้ช่วยเหลือนักบุญเปโตรมาแล้ว “ ในทันใดนั้นทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาปรากฏแสงสว่างไป ทั่วคุก ตบบ่าเปโตรปลุกว่า “ ลุกขึ้น เร็วเข้าเถิด ” ทันใดนั้นโซ่ที่ล่ามข้อมือก็หลุดออก ทูตสวรรค์สั่งท่านอีกว่า “ จงคาดเข็มขัดและสวมร้องเท้าเสีย ” เปโตรก็ปฏิบัติตาม ทูตสวรรค์ยังคงสั่งต่อไปอีกว่า “ สวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อยแล้วตามเรามา ”… ประตูก็เปิดออกเอง ทั้งสองจึงเดินออกไปตามถนน แล้วทูตสวรรค์ก็หายวับไป เมื่อเปโตรรู้สึกตัวจึงอุทานออกมาดังๆว่า “ เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าเป็นความจริง องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์มาช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเงื้อมมือของกษัตริย์เฮโรดและแผนการของพวกหัวหน้าชาวยิวจริง ” ( กจ . 12,7-11)

ในพระศาสนจักรสมัยเริ่มแรกนั้นเชื่อว่า มีอารักขเทวดาจริงๆอย่างไม่ต้องสงสัย และเพราะเหตุนี้เองที่เมื่อนักบุญเปโตรได้รับความช่วยเหลือให้ออกจากคุกและถูกพาตัวไปที่บ้านของมารโก สาวใช้ที่ชื่อว่า โรดา ได้ยินเสียงเปโตรก็จำได้ เธอดีใจวิ่งกลับเข้าไปบอกคนอื่นว่าเปโตรยืนอยู่ข้างนอกโดยยังมิทันเปิดประตูรับ … แล้วคนเหล่านั้นก็ลงความเห็นว่า “ คงเป็นทูตสวรรค์ประจำตัวเปโตรกระมัง ” ( กจ . 12,15) คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นชัดเจน “ นับตั้งแต่เกิดไปจนถึงเวลาตาย ชีวิตมนุษย์ถูกห้อมล้อมด้วยความช่วยเหลือและการวิงวอนแทนของบรรดาเทวดา สัตบุรุษแต่ละคนต่างก็ได้รับเทวดาองค์หนึ่งเพื่อเป็นผู้อารักขาและเป็นผู้อภิบาลเพื่อจะช่วยเหลือในการดำเนินชีวิต ” ( คำสอน 336)

ท่านนักบุญโยเซฟและพระแม่มารีก็มีอารักขเทวดาด้วยเช่นกัน อาจเป็นอารักขเทวดานี้เองที่แนะนำท่านให้รับพระแม่มารีไว้เป็นภรรยา ( มธ . 2,20) หรือให้พาพระกุมารและพระมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ ( มธ . 2,13) หรือบอกให้กลับประเทศอิสราแอล ( มธ . 2,20) เป็นที่แน่ชัดว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งมาแล้ว เรื่องอารักขเทวดาได้ปรากฏในงานเขียนของบรรดาปิตาจารย์ เราอ่านพบเรื่องนี้ในหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง ชื่อว่า นายชุมพาแห่งแอร์มาส นักบุญเอวเซบีโอ แห่งเซซาเรอาเรียกบรรดาเทวดาว่า “ อาจารย์พิเศษ ” ของมนุษย์ นักบุญบราซิลเรียกท่านว่า “ เพื่อนร่วมทาง ” นักบุญเกรโกรีแห่งนิสสาเรียกท่านว่า “ ผู้ปกป้อง ” ออรีเจนยืนยันว่า “ รอบตัวของมนุษย์จะมีเทวดาของพระเจ้าเพื่อส่องสว่าง เพื่ออารักขาและเพื่อป้องกันเราจากความชั่วร้ายทุกอย่าง ”

เรามีบทภาวนาถึงอารักขเทวดานับตั้งแต่ศตวรรษที่สามซึ่งขอให้ส่องสว่างพิทักษ์รักษาและคุ้มครองเรา นักบุญเอากุสตินพูดถึงการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของอารักขเทวดาในชีวิตของเรา นักบุญโทมัส อากวีนาสได้ใช้ตอนหนึ่งในหนังสือซูมมาเทโอโลจีกา ( เล่ม 1 คำถามที่ 113) ว่าด้วยเรื่องนี้ท่านเขียนว่า “ อารักขเทวดาของบรรดาเทวดาเป็นเสมือนการแผ่ออกของพระญาณสอดส่องของพระเจ้าและเพื่อให้เท่าเทียมกัน สิ่งสร้างทั้งมวลจะต้องอยู่ภายใต้การนำทางของบรรดาเทวดา ”

วันฉลองอารักขเทวดาในประเทศสเปนและฝรั่งเศสนั้นมีตั้งแต่ศตวรรษที่ห้าเป็นต้นมา อาจเป็นไปได้ว่าบทภาวนาที่เราท่องมาตั้งแต่เด็กๆ “ ข้าแต่อารักขเทวดา … โปรดส่องสว่างพิทักษ์รักษาและคุ้มครองข้าพเจ้าในวัน ( คืน ) นี้นั้น มีมานับตั้งแต่บัดนั้น พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ตรัสเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1986 ว่า “ การที่พระเป็นเจ้าทรงมอบเทวดาให้แก่บุตรเล็กๆของพระองค์นั้นมีความหมายมาก ทั้งนี้เพราะว่าพวกเขายังต้องการการดูแลและการปกป้องเสมอ ”

พระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 ภาวนาถึงอารักขเทวดาของพระองค์ทุกวันเวลาตื่นนอน ตอนกลางวันและเวลาจะเข้านอนและเป็นต้นเวลาที่มีปัญหายุ่งยาก พระองค์ทรงสนับสนุนความศรัทธาต่ออารักขเทวดาโดยตรัสว่า “ เพื่อพระเป็นเจ้าจะทรงอวยพรท่านและเพื่ออารักขเทวดาของท่านจะได้ติดตามท่าน ” พระสันตะปาปายวงที่ 23 เวลาที่ยังคงเป็นสมณทูตประจำประเทศตูรกีและประเทศกรีกตรัสว่า “ เวลาที่จะมีการสนทนาที่ค่อนข้างลำบาก ข้าพเจ้ามีธรรมเนียมที่จะขอให้อารักขเทวดาของข้าพเจ้าสนทนากับอารักขเทวดาของบุคคลนั้น แล้วข้าพเจ้าก็จะพบทางออกสำหรับปัญหานั้นๆ ”

พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ตรัสกับผู้แสวงบุญจากอเมริกาเหนือกลุ่มหนึ่งเรื่องเทวดา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1958 ว่า “ บรรดาเทวดาที่อยู่ในเมืองที่ท่านได้ไปเยี่ยมและเป็นเพื่อนร่วมทางของพวกท่าน ” อีกครั้งตรัสเวลาออกวิทยุว่า “ พวกเรามีความเคยชินกับบรรดาเทวดามาก … ถ้าหากว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะให้เราใช้นิรันดรกาลกับบรรดาเทวดาแล้วละก็ เราก็ควรเริ่มที่จะเรียนรู้พวกท่านเหล่านั้นตั้งแต่เวลานี้ ความเคยชินกับบรรดาเทวดาทำให้เรามีความรู้สึกลึกๆถึงความมั่งคงในส่วนตัวของเรา ”

พระสันตะปาปายวงที่ 23 ตรัสกับพระสังฆราชชาวคานาดาท่านหนึ่งพร้อมกับทรงขอให้เก็บเป็นความลับว่า การที่พระองค์ทรงเรียกประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่สองนั้นเป็นความคิดของอารักขเทวดาของพระองค์ พร้อมกับทรงขอรัองผู้ปกครองทั้งหลายให้ปลูกฝังความศรัทธานี้ต่อลูกๆของตนโดยตรัสว่า “ อารักขเทวดาเป็นที่ปรึกษาที่ดี วิงวอนพระเจ้าเพื่อเรา ช่วยเราเวลาที่เรามีความจำเป็น ปกป้องเราจากภยันตรายและคุ้มครองเราจากอุบัติเหตุ เราจะพึงพอใจมาก ถ้าหากว่าบรรดาสัตบุรุษจะได้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของการปกป้องนี้จากบรรดาเทวดา ” (24 ตุลาคม 1962)

ตรัสกับบรรดาพระสงฆ์ว่า “ ให้เราร้องขออารักขเทวดาของเราให้ช่วยเหลือเราในการทำวัตรประจำวัน เพื่อเราจะสามารถทำได้ด้วยศักดิ์ศรี ด้วยความตั้งใจและด้วยความศรัทธาอันเป็นที่สบพระทัยของพระเจ้า มีประโยชน์ต่อตัวเราและต่อพี่น้องของเราด้วย ” (6 มกราคม 1962)

ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับวันฉลองของอารักขเทวดา (2 ตุลาคม ) เราสวดว่า “ พวกท่านเป็นเพื่อนร่วมทางจากสวรรค์ที่ไม่ปล่อยให้เราต้องพ่ายแพ้ต่อการโจมตีของศัตรูของเรา ” ให้เราเรียกหาท่านบ่อยๆอย่าได้ลืม เพราะว่าแม้กระทั่งในที่ลับตาหรือเปล่าเปลี่ยว ก็ยังมีใครบางคนที่ติดตามเราอยู่ เพราะเหตุนี้นักบุญแบร์นาโดจึงได้กล่าวว่า “ จงเดินไปด้วยความรอบคอบในฐานะที่เป็นผู้ที่มีเทวดาอยู่ร่วมด้วยในทุกแห่งหน ”

ท่านรู้ตัวหรือเปล่าว่า อารักขเทวดาเฝ้าดูทุกอย่างที่ท่านทำ

ท่านรักอารักขเทวดาของท่านหรือเปล่า ?