หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ประวัติสถานีรถไฟหัวลำโพง

“สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือเรียกกันทั่วไปว่า “หัวลำโพง” เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือในปี 2453 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯทรงกระทำพิธี กดปุ่มสัญญาณไฟฟ้า ให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459

“สถานีรถไฟกรุงเทพ” สร้างอยู่ในพื้นที่ 120 ไร่เศษ อยู่ห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร ตั้งอยู่ใน ท้องที่ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีอาณาเขตทิศใต้จรดถนนพระราม 4 ทิศเหนือจรดคลองมหานาค ทิศตะวันออก จรดถนนรองเมือง และทิศใต้จรดคลองผดุงกรุงเกษม สำหรับที่ตั้งของสถานีกรุงเทพเดิมซึ่งอยู่บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีเริ่มการก่อสร้างและเปิดเดินรถไฟหลวงนั้น หลังจากได้ก่อสร้างสถานีกรุงเทพหลังปัจจุบันแล้ว จึงรื้อถอนออกไป ต่อมาผู้ปฏิบัติงานรถไฟได้ร่วมกันสละทรัพย์สร้างเป็นอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อเป็นการ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

“สถานีกรุงเทพ” มีแบบก่อสร้างเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองมีลักษณะคล้ายกับสถานี รถไฟ เมืองแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมันนีเช่นกัน ลวดลายต่างๆที่ประดับไว้เป็นศิลปะที่มีความวิจิตรสวยงามมาก บันไดและเสาอาคารบริเวณทางขึ้นที่ทำการกองโดยสารหรือ โรงแรมราชธานีเดิมเป็นหินอ่อน โดยเฉพาะเพดานเป็นไม้สักสลักลายนูน ซึ่งหาดูได้ยาก จุดเด่นของสถานีกรุงเทพอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคารเช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลา ที่มีอายุเก่าแก่เท่าๆกับตัวอาคารสถานี โดยติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี เป็นนาฬิกาที่สั่งทำพิเศษเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิต แสดงให้เห็นเหมือนนาฬิกาอื่นๆ นาฬิกาเรือนนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบ ดี.ซี.จากห้องชุมสาย โทรศัพท์กรุงเทพ เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรผ่านไป-มา และผู้ใช้บริการที่สถานีกรุงเทพจนถึงปัจจุบันนี้

บริเวณด้านหน้าสถานีกรุงเทพมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์เป็นมูลค่า
9,150.-บาท จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯอุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมฉายาลักษณ์ด้านข้างแบบลายนูนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ เดิมสถานีกรุงเทพใช้เป็นที่รับ-ส่ง ทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยถ้าเรายืนอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีและหันหน้าเข้าสู่สถานี ภายใต้พื้นที่หลังคารูปครึ่งวงกลมจะเป็นส่วนให้บริการแก่ผู้โดยสาร พื้นที่ด้านขวามือเป็นที่ตั้งของโรงแรมราชธานี ซึ่งปัจจุบันนี้ เป็นที่ทำการกองโดยสาร และด้านซ้ายมือจะเป็นที่ทำการรับ-ส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถแท๊กซี่ โดยในส่วนพื้นที่บริการด้าน สินค้านี้ การรถไฟฯได้พิจารณาให้ย้ายไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เนื่องจากมีการขยายตัวทั้งด้านการโดยสาร และสินค้าประกอบกับ การจราจรบริเวณหน้าสถานีเริ่มมีปัญหา อีกทั้งเพื่อปรับปรุงย่านสถานีกรุงเทพเสียใหม่ให้สามารถรองรับ การโดยสาร ที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกๆปี

สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการสภาพการโดยสารตลอดมา เป็นต้นว่าการขยายความยาวของชานชาลา หรือก่อสร้างชานชาลาและหลังคาคลุมชานชาลาเพิ่มเติม ปรับปรุงห้องจำหน่ายตั๋ว โดยแยกเป็นห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันและ ห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆแก่ผู้โดยสารและผู้ที่มารับส่ง เช่น ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าเบ็ดเตล็ด ร้านขายหนังสือพิมพ์ ที่ทำการไปรษณีย์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วสถานีกรุงเทพยังเป็นสถานที่รณรงค์ต่อต้านภัยจากการสูบบุหรี่โดยจัด ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพของผู้โดยสารของทุกคนส่วนรวมในปี 2541 สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงในส่วนพื้นที่รองรับ ผู้โดยสารหรือผู้เข้ามาใช้บริการอื่นๆ แบบที่เรียกว่า“พลิกโฉม” โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของรถไฟไทยให้ตอบรับกับ ปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ และรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 – 20 ธันวาคม พ.ศ.2541 โดยการรถไฟฯได้คัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทไทยสินเอ็กซ์เพรส จำกัดซึ่งมีประสบการณ์ในการบูรณะและพัฒนาอาคาร อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลายแห่งมาแล้ว ให้เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีกรุงเทพ ให้อยู่ในสภาพเดิม เนื่องจากเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์

ในการปรับปรุงอาคารสถานีกรุงเทพจะประกอบด้วยการปรับปรุงพื้นที่ 2 ข้างในห้องโถงอาคารให้เป็นร้านขายอาหารและ ร้านค้า โดยมีชั้นลอยเพื่อเป็นที่นั่งคอยของผู้โดยสารเป็นการเพิ่มบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายในการนั่งรอและสามารถ เลือกซื้อ อาหาร ตลอดจนของใช้จำเป็นอื่นๆได้ตามความต้องการ โดยมีร้านค้าหลากหลาย อาทิ ร้านอาหาร , ขนม ,เครื่องดื่ม ,ผลไม้ ,ขนมปังและเบเกอรี่, ไอศกรีม, อาหารจานด่วน, อุปกรณ์การเดินทาง, หนังสือ และร้านขายยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ให้ บริการด้านการท่องเที่ยว,บริษัทรับจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน,บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ,ตู้ เอ.ที.เอ็ม. และห้องละหมาด เป็นต้น

สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันก็ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ โดยหันหน้ารับผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในสถานีบนชั้น 2 ของห้อง ขายตั๋วทำเป็นพื้นที่ทำงานของพนักงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกในการปฏิบัติงาน ส่วนที่เป็นห้องโถงจะคงสภาพเดิมไว้ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมากๆได้ ในส่วนชานชาลาได้เพิ่มเติมร้านขายของ และจัดเป็นที่พักสำหรับผู้โดยสารที่มารอ การเดินทางด้วย ทางด้านข้างของอาคารสถานีทิศตะวันตก หรือคลองผดุงกรุงเกษม ก่อสร้างเป็นหลังคาคลุมใหม่เป็นรูปโค้งครึ่ง วงกลมครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารขาเข้าและขาออกให้ได้รับความสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม การปรับปรุงเพื่อพลิกโฉมของสถานีกรุงเทพใหม่ที่กล่าวมานี้แล้วเสร็จและจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541

“สถานีกรุงเทพ” เป็นสถานีเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ถ้านับอายุจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2544)ก็มีอายุถึง 85 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง การขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ในแต่ละวันจะมีขบวนรถเข้า-ออก ประมาณ 200 ขบวน และมีผู้โดยสารเดินทางเข้าและออกที่สถานีนี้ นับหมื่นคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์สำคัญๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา หรือตรุษจีนจะมีผู้คนหลั่งไหล มาใช้บริการที่สถานีกรุงเทพนี้นับแสนคน จนสถานที่อันกว้างขวางโอ่โถงของสถานีแห่งนี้ดูคับแคบลงไปเลยทีเดียว ออกจากความเก่าแก่ แล้ว“สถานีกรุงเทพ”ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการคมนาคมขนส่ง สมควรยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของชาติและอนุชนรุ่นหลังสืบไป