หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

สักการสถาน นักบุญ เบอน้วต รังกือเรล (Saint Benoite Rencurel)

                                                                                     กอบกิจ  ครุวรรณ  ผู้แปลและเรียบเรียง

นักบุญเบอน้วต รังกือเรล นักบุญองค์ล่าสุด ผู้ได้รับการประจักษ์จากแม่พระประมาณ 2500 ครั้งในช่วงเวลาที่นานถึง 54 ปี (ค.ศ.1664-1718 ) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ท่านเป็นนักบุญที่แทบจะไม่ผู้ใดรู้จักกันเลย ทั้งที่มีชีวประวัติที่น่าสนใจมาก สารวัดจึงขอนำเสนอเรื่องของท่านนักบุญโดยสังเขปซึ่งมีทั้งสิ้น 17 ตอน สารวัดของเราจะทะยอยลงประจำทุกสัปดาห์ตั้งแต่ต้นจนจบ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2008 ที่วัดแม่พระแห่งโลส์ (NOTRE DAME DU LAUS)  สัตบุรุษและนักแสวงบุญ 6000 คน ร่วมแสดงความยินดีกับพระสังฆราชและพระคาร์ดินัลมากกว่า 20 องค์ในพิธีบูชามิสซาในโอกาสบันทึกนามของท่านในทำเนียบนักบุญ  เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศฝรั่งเศส (Papal Nuncio Fortunato Baldelli) ร่วมอยู่ในพิธีมิสซานี้ด้วย พระคุณเจ้า ชัง-มีแชล ดี ฟาลโก เลอันดรี (Jean-Michel di Falco Leandri) พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลกั๊ป (Gap) ประธานในพิธีสหบูชากล่าวในโอกาสนี้ว่า “เราสนับสนุนให้สัตบุรุษมาสวดภาวนาและรื้อฟื้นจิตใจที่สักการสถานแห่งนี้”  ในโอกาสนี้ สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส (France-2) ได้ถ่ายทอดทั่วประเทศ  พระคุณเจ้าให้สัมภาษณ์ระหว่างการออกอากาศของสถานีวิทยุFrance-Info ว่า     นับแต่นี้ไปพระศาสนจักรได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า ผู้จาริกแสวงบุญสามารถสามารถเดินทางมาที่นี่ได้ด้วยความมั่นใจว่าเป็นสถานที่แม่พระได้ทรงประจักษ์มาจริง  ปัจจุบันมีนักแสวงบุญมายังวัดแม่พระแห่งโลส์ปีละประมาณ 120,000 คน หลายคนหายป่วยเพราะความเชื่อและอาศัยน้ำมันจากตะเกียงที่หน้าพระแท่นในวัดทาบริเวณที่ป่วยเป็นโรคตามที่แม่พระเคยกล่าวไว้แก่เบอน้วต

1. ที่ตั้งของโลส์และสักการสถาน “ที่หลบภัยของคนบาป”

 วัดแม่พระแห่งโลส์ตั้งอยู่บนภูเขาแอลป์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส มีบ้านเรือนไม่กี่หลังอยู่รอบวัด  ทำเลที่สร้างวัดมีความสงบสุขอย่างน่าอัศจรรย์ ทิวทัศน์ภูเขาและหุบเหวโดยรอบสวยงามมากเชื่อมระหว่างยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมคล้ายกับเมืองในฝันแชงการีล่าที่มีอยู่ในตำนาน   

 สาระสำคัญในการประจักษ์ของแม่พระแห่งโลส์เตือนเราถึงภยันตรายต่างๆ ที่เกิดจากบาป, ความสำคัญของการเป็นทุกข์ถึงบาป, ความสำคัญของศีลแก้บาปและการรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ  สักการสถานแห่งนี้เป็น “ที่หลบภัยของคนบาป” โดยที่แม่พระได้ทำนายไว้ก่อนแล้วว่า จะไม่เป็นที่รู้จักและจะถูกเพิกเฉยเป็นเวลานาน (มากกว่า 300 ปีนับแต่การประจักษ์ครั้งแรก) เพราะผู้คนพาไม่กล่าวถึงเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ แต่ที่สุดสักการสถานแห่งนี้ก็จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อใกล้จะสิ้นโลก อย่างไรก็ตามทุกคนยังมีหวังอย่างเต็มเปี่ยมเมื่อเข้ามาขอพึ่งพาความช่วยเหลือจากแม่พระแห่งโลส์

2. ชีวิตการเลี้ยงฝูงแพะและแกะ

เบอน้วต รังกือเรล (Benoite Rencurel) เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1647 เธอเป็นบุตรสาวคนที่สองของครอบครัวเกษตรกร ในเขตแซงต์เอเตียนแห่งอาวังซอง (Saint-Etienne d’Avan?on; Saint Etienne = นักบุญสตีเฟน) ซึ่งตั้งอยู่ในสังฆมณฑลเกรอนอเบลอ (Grenoble)  นายกีโยม (Guillaume) บิดาของเธอถึงแก่กรรมเมื่อเธอมีอายุได้ 7 ขวบ  เธอมีพี่สาวชื่อมาเดอแลน และน้องสาวชื่อมารี ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเธอ 4 ปี   หมู่บ้านแซงต์เอเตียนที่เธอเกิดไม่มีโรงเรียน และดังนั้นเธอจึงได้รับการศึกษาจากการไปฟังมิสซาในวันอาทิตย์ที่วัดเท่านั้น  ที่นี่เองเธอได้รู้จัก, รักและมีความปรารถนาจะพบพระนางมารีย์    บิดามารดาของเธอมีความศรัทธาและสอนบทสวดต่างๆ แก่ลูกทุกคน  หลังจากการเสียชีวิตของบิดา ผู้เป็นแม่ได้พยายามเลี้ยงดูบุตรสาวทั้งสามเป็นอย่างดี แม้จะต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักโดยเฉพาะเมื่อถูกเจ้าหนี้รุมล้อมทวงหนี้หลังจากการเสียชีวิตของสามี  ลูกทุกคนต้องออกไปรับจ้างทำงานเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว   

เมื่อเบอน้วตอายุได้ 12 ขวบ เธอก็ช่วยครอบครัวหารายได้ด้วยการรับจ้างดูแลฝูงแพะและแกะให้แก่เจ้าของ 2 คนพร้อมกัน และขณะที่อยู่กับสัตว์ที่เธอเลี้ยงในบริเวณที่เป็นป่าเปลี่ยวอยู่นั้น เธอก็ใช้เวลาในการสวดสายประคำและทำพลีกรรม  เมื่ออายุได้ 13 ปีเธอเริ่มศึกษาพระวรสารอย่างจริงจัง เธอสละขนมปังของเธอให้แก่เด็กเล็กๆ ที่หิวโหยในปีที่การเพาะปลูกไม่สู้จะได้ผล

ครั้งหนึ่งเธอวิ่งหนีไปตามบริเวณหล่มโคลนในป่าที่มีอันตรายเมื่อมีนักเลงหนุ่ม 2 คนพยายามจะบุกเข้าทำลายความสาวของเธอ  นักเลงทั้งสองขณะที่วิ่งไล่ตามก็ได้ตกลงไปในหล่มโคลนและต้องใช้เวลานานกว่าจะหลุดพ้นไปจากหล่มโคลนได้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะแม่พระทรงปกป้องผู้ที่พระนางทรงเลือกไว้สำหรับแผนการที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

3. นักบุญโมริสและการประจักษ์ของ “สตรีงาม”

ในเดือนพฤษภาคมปี 1664 เธอมีอายุ 17 ปี ขณะที่กำลังสวดสายประคำที่เธอชอบสวดเป็นพิเศษอยู่นั้น  มีชายชราท่าทางน่านับถือคนหนึ่งแต่งกายในชุดพระสังฆราชยุคแรกของคริสตศาสนา เดินมาหาเธอและพูดว่า “ลูกรัก กำลังทำอะไรอยู่หรือ?”   

“หนูกำลังเฝ้าแกะพร้อมกับสวดภาวนาอยู่ และกำลังจะไปหาน้ำดื่ม”

“ฉันจะไปตักน้ำให้หนูเอง” ชายชราตอบพร้อมกับเดินไปตักน้ำจากบ่อที่เบอน้วตไม่เคยเห็นมาก่อน

“ท่านงามสง่าจังเลย ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นพระเยซูหรือคะ”

“ฉันชื่อโมริส ซึ่งเป็นชื่อของวัดน้อยที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่... หนูอย่ามาเลี้ยงแกะที่นี่อีก เพราะอยู่นอกเขตของหนู  มิฉะนั้นหากคนเฝ้าป่าพบหนูที่นี่ เขาจะยึดฝูงแกะของหนูไป  วันหน้าให้หนูไปเลี้ยงแกะในบริเวณหุบเขาสูงที่แซงต์เอเตียนนะ และหนูจะพบแม่พระที่นั่น”

“แต่ท่านคะ แม่พระอยู่ในสวรรค์นี่  หนูจะพบได้อย่างไร”

“ถูกแล้ว แม่พระอยู่ในสวรรค์ แต่แม่พระก็อยู่ในโลกด้วยเมื่อเป็นความประสงค์ของพระนาง”

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เบอน้วตรีบพาฝูงแกะไปเลี้ยงในบริเวณที่ชายชราบอกซึ่งมีชื่อว่า “หุบเขาแห่งดินขาว” (Vallon des Fours) ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เพราะเขาในบริเวณนั้นมีแร่ยิปซั่มอยู่มากในดิน ชาวบ้านนำดินจากที่นี่ไปทำเป็นปูนพลาสเตอร์ เพื่อใช้สร้างอาคารบ้านเรือน  ขณะที่เบอน้วตไปถึงบริเวณหน้าถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง เธอก็ได้แลเห็นสตรีที่งดงามมากผู้หนึ่ง ในมือข้างหนึ่งอุ้มบุตรชายที่น่ารักไม่น้อยกว่ากัน แม้ว่านักบุญโมริสได้แจ้งให้เธอทราบล่วงหน้าถึงเรื่องนี้แล้ว  แต่เธอก็ยังนึกไม่ถึงว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหน้าของเธอคือพระมารดาของพระเจ้า เธอเข้าใจว่าเธอพบสตรีที่เป็นมนุษย์คนหนี่งเท่านั้น ดังนั้นเธอจึงถามซื่อๆว่า

“สตรีงามคะ ท่านมาทำอะไรที่นี่หรือ?  ท่านมาซื้อปูนพลาสเตอร์หรือ?” และยังไม่ทันได้คำตอบ เธอก็ถามต่อว่า “ขอเด็กที่อุ้มอยู่ได้ไหมคะ ทุกคนจะชื่นชมยินดีกับหนูน้อยผู้นี้แน่ทีเดียว!”

สตรีผู้นั้นยิ้มแทนคำตอบ  เบอน้วตตกอยู่ในภวังค์ของสตรีงามอยู่เป็นเวลานาน  จนเมื่อถึงเวลาอาหารเที่ยง เบอน้วตจึงหยิบขนมปังขึ้นมาก้อนหนึ่งและพูดว่า “ท่านมากินด้วยกันไหมคะ? ดิฉันมีขนมปังพอค่ะ เดี๋ยวเราเอาไปจุ่มในน้ำพุด้วยกันดีไหมคะ?”

สตรีผู้นั้นยังคงยิ้มและปล่อยให้เบอน้วตชื่นชมความงามของเธอต่อไป ขณะที่สตรีผู้นั้นเดินไปมาตามหลืบในถ้ำนั้น จนถึงเวลาเย็น สตรีผู้นั้นจึงอุ้มบุตรและเดินหายไปในถ้ำ

วันถัดมาเหตุการณ์เช่นเดิมก็เกิดขึ้นอีกและเกิดขึ้นเช่นนั้นเป็นเวลา 4 เดือนต่อเนื่องกัน  เบอน้วตได้แต่เฝ้าสวดภาวนาในบริเวณนั้น เธอมีความยินดีที่ได้อยู่ในหมู่เทวดาและสิ่งประดับจากสวรรค์   ผู้คนแลเห็นใบหน้าที่เปล่งประกายอย่างเป็นสุขของเธอตั้งแต่วันแรก ต่างพากันฉงนถามกันว่า “หรือว่าเธอได้พบพระนางพรหมจารี?” เบอน้วตเองก็ไม่ทราบว่าสตรีที่เธอเห็นนั้นเป็นใคร และก็ไม่กล้าถามด้วย

4. การเตรียมตัวเป็นข้ารับใช้ของพระแม่

ก่อนที่พระนางพรหมจารีจะรับเบอน้วตเป็นสหายและเป็นผู้ช่วยแจกจ่ายพระหรรษทาน แม่พระได้ใช้วิธีค่อยๆ ยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณของเธอไว้  หลังจากผ่านไป 2 เดือนในความเงียบ  แม่พระก็เริ่มได้สอน, ทดสอบและให้กำลังใจเธอ  พระราชินีแห่งสวรรค์ ผู้ทรงความดีงามอย่างไร้ขอบเขตได้ทรงถ่อมพระองค์สร้างความคุ้นเคยกับหญิงชาวบ้าน  มีอยู่วันหนึ่ง พระมารดาได้ให้เบอน้วตที่เหนื่อยอ่อนมานั่งพิงอยู่ข้างๆ จนเธอหลับไปขณะที่ยังเอนกายพิงอยู่ที่ชายเสื้อคลุมของพระนาง  ครั้งหนึ่งแม่พระได้สอนให้เธอสวดเหมือนกับมารดาทั่วไปสอนลูกให้รู้จักบทสวดต่างๆ แม่พระสอนให้เธอท่องบทเร้าวิงวอนแห่งโลเรโต (Litany of Loreto) ทีละคำ และทรงยินดีที่เห็นเบอน้วตนำไปสอนต่อแก่พวกเด็กหญิงที่หมู่บ้านแซงต์เอเตียน ที่รวมกลุ่มขับร้องพร้อมกันในวัดทุกค่ำ

แม่พระมีความอ่อนหวานและอดทนเยี่ยงมารดาที่ดีในการสอนเบอน้วตทีละน้อย เพื่อเตรียมให้เธอปฏิบัติภารกิจในอนาคต ขณะนั้นเบอน้วตยังมีนิสัยหยาบกระด้าง หัวแข็งและขาดความอดทน  และก่อนที่แม่พระจะบอกเธอเป็นการส่วนตัวว่าเป็นใคร  แม่พระได้อธิบายให้เบอน้วตทราบถึงภารกิจตลอดชีวิตที่เหลือของเธอ ซึ่งได้แก่การช่วยคนบาปกลับใจโดยอาศัยการสวดภาวนา, การทำพลีกรรม และพระพรพิเศษในการหยั่งรู้สภาพวิญญาณของผู้อื่น และดังนั้นเธอจึงจะต้องมีภารกิจหนักทีเดียวในการเผยแสดงสภาพของวิญญาณที่น่าสงสารของผู้อื่นและช่วยให้พวกเขากลับใจ บางครั้งเธอจะเตือนให้พวกเขาทราบถึงบาปที่ลืมไปหรือบาปที่พวกเขาเก็บซ่อนไว้  และพยายามกระตุ้นเตือนให้พวกเขาสารภาพบาปต่อพระสงฆ์จนหมดทุกข้อ

การปฏิบัติงานของเธอเช่นนี้ก่อให้เกิดมีการกลับใจอย่างมาก ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเพราะเธอได้รับการประจักษ์เท่านั้น   นางโรลังค์ ผู้เป็นนายจ้างของเธอไม่สนใจเรื่องศาสนา และต้องการไปพิสูจน์บริเวณที่มีการประจักษ์ด้วยตนเอง และดังนั้นตอนเช้าตรู่วันหนึ่ง เธอจึงรีบไปที่ถ้ำและซ่อนตัวอยู่หลังก้อนหินใหญ่ก่อนที่เบอน้วตจะไปถึง   เมื่อเบอน้วตไปถึงได้สักครู่ สตรีงามก็ประจักษ์มาและกล่าวว่า “ผู้จ้างเธอเฝ้าแกะก็อยู่ที่นี่ และซ่อนตัวอยู่หลังหินก้อนนั้น ช่วยบอกเธอว่า ต่อไปอย่าได้ออกพระนามเยซูโดยไม่สมควร เพราะหากเธอยังขืนทำต่อ เธอจะสูญเสียสวรรค์แน่เพราะวิญญาณของเธออยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมาก  เธอควรจะต้องใช้โทษบาปนะ”

นายจ้างของเธอได้ยินคำพูดทุกคำ เธอได้ร้องไห้อย่างขมขื่นและเป็นทุกข์กลับใจ

เมื่อข่าวการประจักษ์กระจายไปทั่ว หลายคนเชื่อแต่อีกหลายคนก็ไม่เชื่อและกล่าวหาว่าหญิงเลี้ยงแกะทำตัวเหมือนคนทรงที่หลอกลวง   ในกลุ่มผู้ที่เชื่อได้แก่พวกเด็กหญิงที่หมู่บ้านแซงต์เอเตียนที่มีความรักผูกพันต่อแม่พระเช่นเดียวกับเบอน้วต แม่พระกล่าวกับเบอน้วตโดยสรุปว่า “ช่วยบอกพวกเด็กหญิงที่หมู่บ้านแซงต์เอเตียนให้ไปร้องเพลงสุดดีวิงวอนแม่พระในวัดทุกค่ำ โดยขออนุญาตกับคุณพ่อปลัดผู้ดูแลวัดเสียก่อน และเธอจะเห็นว่าพวกเขาจะทำตามที่เธอบอก”  ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น  หลังจากที่พวกเขาได้หัด “ท่อง” จนจำได้แล้ว ทุกค่ำพวกเขาก็ได้ร้องเพลงสดุดีวิงวอนแม่พระในวัดด้วยความศรัทธา

5. การเปิดเผยพระนาม “มารีย์”

 หลังจากที่ข่าวเรื่องการประจักษ์แพร่ไปทั่ว นายฟรังซัวส์ กรีโมด์   นายกเทศมนตรีเขตหุบเขาอาวังซอง (Aven?on) เป็นคริสตังใจศรัทธา ท่านได้ตัดสินใจให้มีการสอบสวนเรื่องการประจักษ์ให้เป็นที่แน่ชัด และที่สุดได้สรุปว่า เบอน้วตมิได้เป็นคนหลอกลวง หรือเป็นผู้ป่วยโรคจิต  นอกจากนั้นยังให้ข้อสังเกตว่า เบอน้วตยังมิได้ถามสตรีผู้นั้นว่านางเป็นใคร 

ในการประจักษ์ครั้งสุดท้ายที่ “หุบเขาแห่งดินขาว” เบอน้วตได้รับการขอร้องจากนายกเทศมนตรี ให้ถามนามของผู้ประจักษ์   และในครั้งนี้ สตรีงามได้ปรากฏกายที่ฉายแสงงดงามมากจนเธอไม่สามารถจะเห็นใบหน้าที่เป็นประกายเฉิดฉายได้ชัดเจน ขณะเดียวกันการปรากฎตัวของสตรีงามก็มิได้สร้างความหวาดกลัวใดๆ แก่เบอน้วต  เบอน้วตได้รวบรวมความกล้าถามสตรีงามตามที่ผู้ใหญ่ขอร้องว่า “ท่านคะ  ดิฉันและผู้คนทั้งหลายที่นี่อยากทราบจริงๆ ว่าท่านคือใคร  ท่านอาจจะไม่ได้เป็นพระมารดาของพระเจ้าใช่ไหมคะ?  ขอความกรุณาตอบให้ทราบด้วย และพวกเราจะสร้างวัดน้อยขึ้นในสถานที่นี้เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน” 

ผู้ประจักษ์จากสวรรค์จึงตอบว่า “อย่าสร้างอะไรขึ้นที่นี่เลยเพราะฉันได้เลือกสถานที่เหมาะสมไว้แล้ว”จากนั้นจึงกล่าวเสริมอีกว่า “ฉันคือมารีย์ มารดาของพระเยซูเจ้า เธอจะไม่ได้เห็นฉันอีกที่นี่หรือแม้แต่ที่อื่นสักระยะหนึ่ง”

       หลังจากนั้นเบอน้วตก็มิได้เห็นการประจักษ์อีกเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม  เธอเศร้าใจมาก เพราะเมื่อขาดความช่วยเหลือจากเบื้องบน เธอก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้  ต่อมาในวันที่ 29 กันยายน 1664 เธอได้รับการประจักษ์ที่อีกฝั่งหนึ่งของลำธารในบริเวณที่เป็นเขา ครึ่งทางก่อนจะถึงหมู่บ้านโลส์  เธออุทานขึ้นว่า “พระมารดาที่รัก ทำไมจึงเอาความชื่นชมยินดีของหนูไปโดยไม่ประจักษ์มาหาหนูเลยคะ?”  จากนั้นเธอก็รีบข้ามลำธารไปหาพระมารดา และกราบที่พระบาทของพระราชินีแห่งสวรรค์  จากนั้นพระนางพรหมจารีจึงตอบเธอดังนี้ “จากนี้ไป เธอจะพบฉันได้ในวัดน้อยที่มีกลิ่นหอมและตั้งอยู่ในเขตโลส์เท่านั้น” และพระนางมารีย์ก็ได้ชี้เส้นทางขึ้นเขาไปทางทิศของหมู่บ้านโลส์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เธอเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยไปมาก่อน  เพราะเธอเป็นคนจากหมู่บ้านแซงต์เอเตียน   

6. การประจักษ์ในวัดน้อยที่โลส์

โลส์ ตั้งอยู่ในสังฆมณฑลอัมบเริง (Embrun) และตั้งแต่ปี ค.ศ.1638 เมื่อกษัตริย์หลุยส์ที่ 13 ได้ถวายประเทศฝรั่งเศสไว้ในอุปถัมภ์ของแม่พระแล้ว   ก็มีการขับร้องบทเร้าวิงวอนแม่พระแห่งโลเรโตทุกค่ำในมหาวิหารประจำสังฆมณฑลอัมบเริงด้วยความศรัทธา

       หลังจากนั้นไม่นานในปี ค.ศ.1640 มีชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดน้อยขึ้นบนเขาในเขตโลส์เพิ่อถวายแด่ “แม่พระแห่งการพบกันในความสุข”  (Notre-Dame de Bon Rencontre) เพื่อใช้เป็นที่สวดภาวนาสำรองเมื่อเกิดน้ำท่วมจนไม่สามารถไปวัดของสังฆมณฑลที่แซงต์เอเตียนได้ หลังคาวัดน้อยทำจากไม้ที่นำมาขัดกันไว้ดูจากภายนอกมีสภาพเหมือนบ้านหลังเล็กๆที่มีอยู่ทั่วไป บนพระแท่นที่ทำด้วยปูนพลาส- เตอร์ มีเพียงเชิงเทียนไม้ 2 อันตั้งอยู่พร้อมกับจอกกาลิสดีบุก 1 ใบเท่านั้น และนี่คือสถานที่พระราชินีแห่งสวรรค์ทรงรอให้หญิงเลี้ยงแกะเข้ามาพบ เป็นวัดน้อยที่มีสภาพคล้ายกับคอกสัตว์ที่เมืองเบ็ธเลเฮม

เนื่องจากเบอน้วตไม่เคยรู้จักวัดน้อยหลังนี้มาก่อน วันรุ่งขึ้นเธอจึงพยายามเดินหาด้วยน้ำตานองหน้าอยู่เป็นเวลานาน บางครั้งเธอก็หลงทาง และหยุดสอบถามทุกบ้านที่เธอพบเพื่อจะค้นหา “กลิ่นที่หอมหวล”  ที่สุดเธอก็หาจนพบ “วัดน้อย” ที่มีประตูเปิดอยู่  เธอก้าวเข้าไปและพบว่าแม่พระทรงประทับยืนอยู่บนพระแท่นที่มีฝุ่นจับอยู่เต็ม

       “ลูกรัก  เธอได้ตามหาฉันด้วยความอดทน  เธอไม่ควรจะต้องร้องไห้เลย ฉันชื่นชมในความอดทนและการควบคุมอารมณ์ที่ดีของเธอ” 

       เบอน้วตรับคำวิจารณ์ และรู้สึกเศร้าใจต่อสภาพที่น่าหดหู่ของพระแท่น

       “ท่านผู้ทรงความงามคะดิฉันจะเอาผ้ากันเปื้อนรองพระบาทได้ไหม ผ้านี้ขาวสะอาดมากเลยนะ”

       “ไม่จำเป็นหรอกลูก... เพราะอีกไม่นานที่นี่จะมีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ หรือผ้าคลุมพระแท่น หรือเทียนที่ใช้  ฉันอยากให้มีการสร้างวัดหลังใหญ่ขึ้นที่นี่ โดยให้มีอาคารสำหรับพระสงฆ์ที่จะประจำอยู่ที่นี่ด้วย  วัดนี้จะสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่บุตรที่รักของฉันและสำหรับฉันเองด้วย  ที่นี่แหละจะมีคนบาปจำนวนมากกลับใจ ฉันจะมาปรากฎให้เธอเห็นที่นี่อีกหลายครั้ง”

       เบอน้วตอุทานขึ้นว่า “สร้างวัดหรือคะ... ที่นี่ไม่มีใครมีเงินกันเลย”

       “ไม่ต้องห่วงหรอก เมื่อถึงเวลาสร้าง ก็จะมีทุกสิ่งที่ต้องการเอง และก็จะเป็นไปในอีกไม่นานด้วย  เงินไม่กี่เหรียญของคนจนก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างทุกสิ่งได้  จะไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย”

7. ภารกิจที่ได้ผลดีในระยะแรก

แม้ว่าหมู่บ้านแซงต์เอเตียนที่เบอน้วตอาศัยอยู่ ตั้งห่างจากวัดน้อยที่โลส์ถึง 4 กม. แต่ตลอดฤดูหนาวปี 1664-65 เบอน้วตก็เดินขึ้นเขามายังวัดนี้ทุกวัน และเกือบทุกครั้งเธอก็ได้พบกับพระนางพรหมจารีที่นั่น แม่พระ ได้สอนเธอว่า “ขอให้เธอสวดอย่างต่อเนื่องเพื่อคนบาป” หลายครั้งที่พระนางเอ่ยชื่อของผู้ที่เธอจะสวดให้ และนี่คือวิธีการที่พระนางพรหมจารีฝึกอบรมเธอ  ซึ่งได้แก่การเข้าช่วยเหลือพระสงฆ์ในฐานะของผู้โปรดบาป และการกลับใจของเหล่าคนบาป  ตั้งแต่ปี 1665 พระนางพรหมจารีได้แจ้งให้เธอเลิกเลี้ยงแกะ เพื่อจะได้อุทิศตนเพื่อภารกิจของพระนางอย่างเต็มที่

       แม่พระได้แจ้งให้เบอน้วตทราบว่า “ฉันได้ขอพระบุตรให้มีการกลับใจที่โลส์ และพระองค์ก็โปรดให้ตามที่ขอ”        ผู้คนที่ทราบข่าวการประจักษ์ของแม่พระมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างพากันมาคุกเข่าสวดภาวนาที่วัดน้อยที่อยู่ในเขตโลส์ ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมาก แต่ก็เป็นสถานที่พระหรรษทานของพระทำงานเพื่อความรอดของพวกเขาอย่างได้ผล ผู้ป่วยจำนวนมากหายจากโรคและมีผู้คนกลับใจเป็นจำนวนมาก  
7:01 PM | Add a comment | Send a message | Permalink | View trackbacks (0) | Blog itสักการสถาน
วันที่ 25 มีนาคม 1665 มีมหาชนหลั่งไหลมาอยู่รวมกันที่วัดน้อยเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ถึง 1 ปียังเป็นวัดร้างที่แทบจะไม่มีใครรู้จักกันเลย และในวันที่ 3 พฤษภาคมปีนั้นเอง   เป็นวันฉลองพระมหา-กางเขน มีสัตบุรุษจาก 35 วัด เดินเป็นขบวนตามธงประจำวัดของตนเพื่อมาแสวงบุญที่วัดน้อยหลังนี้ มีการจัดตั้งพระแท่นและที่ฟังแก้บาปจำนวนมากในบริเวณนอกวัด โดยมีพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมาช่วยคุณพ่อแฟรส (Fresse) เจ้าอาวาสวัดแซงต์เอเตียนฟังแก้บาป

       ขณะนั้นผู้ใหญ่ของสังฆมณฑลยังมิได้รับรองการประจักษ์อย่างเป็นทางการ แต่ก็อนุญาตให้มีการถวายบูชามิสซาในวัดน้อยนั้นได้ ในช่วงเวลานั้นเองคุณพ่อกานอง ปีแอร์ กัยยารด์ (Canon Pierre Gaillard) พระสงฆ์ผู้แทนแห่งสังฆมณฑลกั๊ป (Gap) เข้ามาดูแล และต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการเพื่อจัดระเบียบการแสวงบุญของผู้คนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณพ่อได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง  ระหว่างที่ดูแลอยู่นั้น คุณพ่อได้สวดขอพระหรรษทานต่างๆ และก็ได้รับตามที่ขอ    ที่สุดในเดือนสิงหาคม 1665 คุณพ่อก็มั่นใจเรื่องการประจักษ์ของแม่พระที่นั่นว่าเป็นเรื่องจริง

8. อุปสรรคและการขอเครื่องหมายอัศจรรย์

         ในสมัยนั้น โลส์อยู่ในเขตสังฆมณฑลอัมบเริง แต่คุณพ่อกัยยารด์เป็นพระสงฆ์ในสังฆมณฑลกั๊ป  คุณพ่อจึงไม่มีอำนาจที่จะรับรองการประจักษ์อย่างเป็นทางการ  ท่านได้ปรึกษาเพื่อนพระสงฆ์ซึ่งแนะนำให้คุณพ่อเขียนจดหมายถึงคุณพ่ออังตวน ลัมแบร์ต พระสงฆ์ผู้ปกครองสังฆมณฑลอัมบเริงเพื่อขอร้องให้ท่านทำการสอบสวนตามระเบียบของพระศาสนจักร

       คุณพ่อลัมแบรต์ไม่เคยเชื่อเรื่องการประจักษ์ที่โลส์  และไม่พอใจที่เห็นสัตบุรุษจำนวนมากเลิกมาที่สักการสถานแม่พระแห่งอัมบเริง คุณพ่อมั่นใจว่า การประจักษ์ของแม่พระแก่เบอน้วตเป็นการกระทำของปีศาจ   วันที่ 14 กันยายน 1665 คุณพ่อลัมแบรต์พร้อมกับพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายองค์ที่มีความในแนวทางเดียวกัน พากันมาที่โลส์เพื่อจะจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด โดยการพิสูจน์ว่าเบอน้วตเป็น “คนลวงโลก” และจะสั่งปิดวัดน้อยอย่างถาวร

       เบอน้วตทราบข่าวการมาของคุณพ่อลัมแบรต์และคณะ ก็ตกใจกลัวและต้องการจะไปจากวัดน้อย แต่แม่พระปลอบใจเธอโดยกล่าวกับเธอว่า “ไม่ต้องหลบหนีไปหรอก ลูกรัก  ลูกต้องอยู่ที่นี่และต้องจัดการกับพระสงฆ์ที่จะมาให้เรียบร้อยด้วย พวกเขาจะสอบถามหนูทีละคนเพื่อจับผิด แต่ไม่ต้องกลัว และให้บอกกับพระสงฆ์ที่มาว่า ท่านอาจสามารถเชิญพระเจ้าลงมาจากสวรรค์ได้โดยอาศัยอำนาจที่ได้รับเมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ แต่ท่านไม่สามารถออกคำสั่งกับพระมารดาของพระเจ้าได้เลย”

       เมื่อพระสงฆ์ผู้ปกครองมาถึงวัดน้อยที่โลส์ ก็เข้าไปสวดสั้นๆ ในวัด จากนั้นก็เรียกเบอน้วตไปสอบสวนด้วยความหยิ่งยโสโดยมีเพื่อนพระสงฆ์ที่มาด้วยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ คุณพ่อพยายามใช้คำถามล่อหลอกเพื่อให้เบอน้วตให้การขัดแย้งกันเอง แต่เบอน้วตอยู่ในอาการสงบและตอบคำถามอย่างเรียบง่ายและชัดเจนทุกถ้อยคำ

       คุณพ่อลัมแบรต์พูดโดยใช้อารมณ์ว่า “อย่าคิดนะว่า พ่อมาที่นี่เพื่อรับรองการประจักษ์และภาพลวงตา รวมทั้งเรื่องแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นที่ใครต่อใครพากันพูดถึงเกี่ยวกับเธอและสถานที่นี้   พ่อเชื่อมั่นและทุกคนที่มีสามัญสำนึกต่างทราบดีว่า สิ่งที่เธอเห็นเป็นการหลอกลวง และดังนั้นพ่อจะสั่งปิดวัดนี้และห้ามมิให้มีการมาที่วัดนี้อีกต่อไป  ส่วนตัวเธอก็กลับบ้านไปซะ”

       เบอน้วตซึ่งได้รับการดลใจจากแม่พระ ตอบคุณพ่อว่า “คุณพ่อที่เคารพ แม้ว่าทุกเช้าคุณพ่อสามารถสั่งให้พระเป็นเจ้าเสด็จลงมายังพระแท่นได้ด้วยอำนาจที่คุณพ่อได้รับเมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ แต่คุณพ่อก็ไม่มีอำนาจออกคำสั่งกับพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าได้ เพราะพระนางสามารถกระทำสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมได้ในสถานที่นี้”

       คุณพ่อลัมแบรต์ประทับใจกับคำตอบและพูดขึ้นว่า “ถ้าเช่นนั้น หากสิ่งที่ผู้คนพูดกันเป็นจริง พ่อขอให้เธอสวดขอแม่พระเพื่อแสดงความจริงให้พ่อเห็นด้วยเครื่องหมายหรืออัศจรรย์สักอย่างก็ได้  และถ้าสำเร็จ พ่อจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระนาง   แต่พ่อขอเตือนว่า อย่าให้มารยาหลอกลวงผู้คนเป็นอันขาด มิฉะนั้นพ่อจะลงโทษเธออย่างหนัก     และจะทำทุกอย่างที่จะจัดการเรื่องนี้ให้สิ้นซาก”

       เบอน้วตกล่าวขอบคุณคุณพ่อด้วยความสุภาพ และสัญญาว่าจะสวดขอแม่พระให้เป็นไปตามที่    คุณพ่อต้องการ   หลังจากนั้นก็มีการสอบสวนคุณพ่อแฟรสเจ้าอาวาสวัดแซงต์เอเตียน, ผู้พิพากษา ฟรังซัวส์ กรีโมด์และคุณพ่อปีแอร์ กัยยารด์ หลังจากนั้น แทนที่คุณพ่อลัมแบรต์จะสั่งปิดวัดน้อย ท่านกลับทำบันทึกเรื่องราวที่รับฟังมาทั้งหมดอย่างละเอียด และวางแผนจะเดินทางกลับในค่ำวันนั้น แต่เย็นวันนั้นเอง ก็เกิดฝนตกหนักมาก จนท่านไม่สามารถออกเดินทางได้ และจำต้องอยู่ที่นั่นต่ออีก 2 วัน   ทั้งนี้เป็นเพราะแม่พระได้ทรงวางแผนทำอัศจรรย์ที่คุณพ่อคาดไม่ถึงไว้แล้ว

9. การรับรองอัศจรรย์โดยพระสงฆ์ผู้ปกครอง

         ทุกคนที่วัดน้อยทราบดีว่า คัธริน วีอัล (Catherine Vial) ป่วยเป็นโรคขาพิการเนื่องจากเส้นเอ็นที่ขายึดไว้จนเดินไม่ได้มา 6 ปีแล้ว  ขาทั้งสองข้างของเธอขดไปด้านหลังจนแทบจะติดกับลำตัว และก็ไม่มีแพทย์ท่านใดสามารถทำให้หดกลับไปอย่างเดิมได้ ศัลยแพทย์ 2 นายประกาศว่า อาการป่วยของเธอไม่มีทางรักษาได้เลย  ผู้เป็นมารดาจึงได้พาเธอมาทำนพวารที่วัดน้อยหลังนี้ ทุกคนที่แลเห็นเธอขดตัวอยู่ในวัดทั้งวันต่างสลดใจในสภาพที่เธอเป็นอยู่  อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่เบอน้วตถูกสอบสวน เป็นวันสุดท้ายของการทำนพวารของคัธริน วีอัล จู่ๆ เธอก็รู้สึกว่าขาทั้งสองข้างเริ่มคลายตัวและขยับได้ จากนั้นก็หายจากอาการที่เคยเป็นโดยสิ้นเชิง
เช้าวันรุ่งขึ้น เธอเดินเข้าไปในวัดน้อย ขณะที่คุณพ่อลัมแบรต์กำลังถวายบูชามิสซา   การปรากฏตัวของคัธรินในวัดก่อให้เกิดการโกลาหลมากทีเดียวในวัด ทุกคนพากันร้องว่า “อัศจรรย์! อัศจรรย์จริงๆ  คัธริน วีอัล หายป่วยแล้ว”  คุณพ่อลัมแบรต์กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และใช้เวลานานกว่าจะถวายบูชามิสซาจบ คุณพ่อ กัยยารด์เป็นผู้ช่วยมิสซาเขียนบันทึกว่า “พ่อขอเป็นพยานยืนยันถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่”  ส่วนคุณพ่อลัมแบรต์ก็ประกาศว่า “มีอัศจรรย์เกิดขึ้นจริง  ที่นี่มีพระหัตถ์ของพระเจ้าอย่างแน่นอน!”

       คุณพ่อลัมแบรต์สอบถามคัธริน วีอัล ผู้หายป่วย และได้เขียนบันทึกถึงอัศจรรย์ที่เกิดกับเธออย่างเป็นทางการ  จากนั้นคุณพ่อก็นำทุกคนเข้าไปในวัดเพื่อร้องเพลงเต เดอุม (Te Deum)  และบท เร้าวิงวอนแม่พระถวาย ที่สุดคุณพ่อได้แต่งตั้งพระสงฆ์หนุ่ม 2 องค์เป็นจิตตาธิการดูแลวัดที่โลส์ ซึ่งได้แก่คุณพ่อ ชัง เปย์จีเออ (Jean Peytieu) ท่านมรณภาพเมื่ออายุได้ 49 ปี หลังจากที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักในการดูแลวิญญาณของผู้คนเป็นเวลา 24 ปี และคุณพ่อปีแอร์ กัยยารด์ เป็นผู้อำนวยการดูแลเกี่ยวกับการแสวงบุญ คุณพ่อได้ปฏิบัติหน้าที่นี้นานถึง 50 ปี    นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้คุณพ่อบาร์เธอเลมี แอร์มิตต์ เป็นพระสงฆ์ผู้ช่วย จนมรณภาพหลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้ 28 ปี   นอกจากนั้นคุณพ่อลัมแบรต์ยังได้อนุญาตให้มีการสร้างวัดถวายแด่พระนางพรหมจารีตามพระประสงค์อีกด้วย

 

10. การสร้างวัดแม่พระแห่งโลส์และกลิ่นหอมจากสวรรค์

         การก่อสร้างวัดหลังใหญ่แทนวัดน้อยที่อยู่ในสภาพผุพังและจุผู้คนได้เพียง 10-12 คน  รวมทั้งการจัดหาปัจจัยในการสร้างวัดก็เป็นส่วนหนึ่งของ “อัศจรรย์ที่โลส์” ด้วย

       แม้ว่าผู้คนที่มาแสวงบุญส่วนใหญ่เป็นคนยากจน แต่พวกเขาก็ได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสร้างวัดใหม่ด้วยความกระตือรือร้น ผู้คนที่นั่นและนักจาริกแสวงบุญที่มาต่างช่วยกันแบกก้อนหิน คนละก้อนสองก้อนขึ้นเขาไปยังบริเวณที่จะก่อสร้างวัดหลังใหม่  แม้แต่พวกเด็กๆ ก็ยังช่วยขนก้อนหินติดมือขึ้นด้วยไปเช่นกัน  ทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการนำวัสดุที่จะใช้ในการสร้างวัด บ้างก็บริจาคเงิน บ้างก็บริจาคสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้าง  พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันเป็นเวลา 1 ปีก็สามารถจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างวัดหลังใหม่ได้ครบ  คุณพ่อกัยยารด์ดูแลเรื่องการจัดหาวัสดุที่จะใช้ก่อสร้างอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างวัด “แม่พระแห่งการพบกันในความสุข” ให้มีลักษณะตรงตามที่แม่พระทรงอธิบายให้กับเบอน้วต  
       วันที่ 7 ตุลาคม 1666 เป็นวันระลึกถึงแม่พระแห่งสายประคำ คุณพ่อกัยยารด์ เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ โดยมีพระสงฆ์จากคณะดอมินิกันจากเมืองกั๊ปเป็นประธานขบวนแห่ที่ยาวเหยียดของผู้จาริกแสวงบุญ และในโอกาสนั้นเอง เบอน้วตก็ได้บวชเป็นภคินีของคณะดอมินิกันประเภทที่สาม โดยสวมเสื้อคลุมยาวและมีผ้าปิดหน้าของคณะ และจากนั้นทุกคนก็เริ่มเรียกเธอว่า “ภคินีเบอน้วต”

       คุณพ่อกัยยารด์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ส่วนเบอน้วตก็ทำหน้าที่ให้กำลังใจผู้ก่อสร้างทุกคน  เธอช่วยเตรียมอาหารและสวดภาวนาเพื่อพวกเขา บางครั้งก็พูดถึงเรื่องชีวิตฝ่ายวิญญาณและให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับพวกเขา  ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง ไม่มีผู้ใดพูดจาหยาบคายหรือกล่าวคำสบถสาบาน นอกจากนั้นก็ไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้นเลยอีกด้วย  การสร้างวัดสำเร็จลงในปี 1970 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 4 ปี   นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งบันทึกว่า “วัดแม่พระแห่งโลส์ สร้างขึ้นในบรรยากาศของการขับร้องบทเพลงสดุดี โดยอาศัยแรงงานจากหยาดเหงื่อของคนจนในการขนวัสดุก่อสร้าง อาศัยเงินบริจาคในการสร้างฐานราก  ใช้พระญาณสอดส่องในการสร้างผนังกำแพง และอาศัยการวางใจในพระเจ้า ผู้ที่บันทึกเหตุการณ์ในสมัยนั้นทุกคนยังได้กล่าวถึงกลิ่นหอมอบอวลจากสวรรค์ในบริเวณก่อสร้างซึ่งมีคนจำนวนมากเป็นพยานยืนยัน    และบางครั้งยังส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งหุบเขานั้นด้วย”

       ผู้พิพากษาฟรังซัวส์ กรีโมด์ ยืนยันว่า “ระหว่างเทศกาลปัสกาปี 1666 ข้าพเจ้าได้กลิ่นหอมบริสุทธิ์เป็นเวลานานถึง 7 นาที เป็นกลิ่นหอมที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักมาก่อน และหอมมากราวกับต้องมนต์สะกด”   มีการเล่าขานกันด้วยว่าตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคน จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 1690  ผู้มาแสวงบุญที่วัดแม่พระแห่งโลส์ทุกคนต่างก็ได้กลิ่นหอมเช่นนี้   และเป็นเพราะ “กลิ่นที่หอมอบอวล” นี้เอง  ในปี 1716 นายโอโนเร เปลา ปฏิมากรจากเมืองกั๊ป ได้อุทิศผลงานการแกะสลักภาพพระนางพรหมจารีอุ้มพระกุมารถวายแก่วัดหลังใหม่ โดยใช้หินอ่อนจากเมืองการ์รารา (Carrara)   แม้กระทั่งในปัจจุบัน นักจาริกแสวงบุญบางคนก็ยังได้กลิ่นหอมนั้นอยู่ และเพื่อมิให้มีการเข้าใจผิดว่าเป็นกลิ่นหอมที่มาจากดอกไม้ จึงไม่อนุญาตให้มีการนำดอกไม้มายังสักการสถานแห่งนี้

       ภคินีเบอน้วตสูดกลิ่นหอมจากแหล่งกำเนิดโดยตรง  เธอบันทึกว่า “ทุกครั้งที่พระนางพรหมจารีประจักษ์มาหาเธอ  ผู้คนในวัดทุกคนจะได้กลิ่นหอมจากสวรรค์เช่นกัน และบางครั้งกลิ่นหอมนั้นก็แทรกซึมอยู่ในเสื้อผ้าที่เธอใส่และแทรกอยู่ในเสื้อผ้าของเธอนานถึง 8 วัน  กลิ่นหอมเหนือธรรมชาตินี้นำความสดชื่นแจ่มใสและช่วยยกจิตใจของผู้คนได้”    ทุกครั้งหลังการประจักษ์ ใบหน้าของเบอน้วตจะเปล่งแสงรุ่งเรืองเหมือนกับใบหน้าของโมเสสเมื่อลงมาจากภูเขาซีนาย  จากนั้นเธอก็จะคุกเข่าสวดบทเร้าวิงวอนแม่พระ และตลอดเวลาทั้งวันที่เหลือเธอจะไม่รับประทานอาหารเลย

11. น้ำมันรักษาโรค

วันหนึ่งในฤดูหนาวปี 1665 แม่พระกล่าวกับเบอน้วตให้เชิญผู้คนที่เจ็บป่วยใช้น้ำมันจากตะเกียงในวัดทาบริเวณที่ป่วยเป็นโรค โดยให้พวกเขาสวดวิงวอนขอพระแม่ช่วยด้วยความเชื่อ และจะหายจากโรคได้ ทั้งนี้เพราะ “พระเป็นเจ้าโปรดให้แม่พระเป็นผู้ดูแลการกลับใจของคนบาป”

น้ำมันจากตะเกียงในวัดเบื้องหน้าศีลมหาสนิท ในสถานที่แม่พระประจักษ์ เปรียบได้กับน้ำที่เมืองลูร์ด   พวกเขาหายป่วยทั้งกายและใจเมื่อใช้น้ำมันดังกล่าวด้วยความเชื่อ   จึงมีผู้แสวงบุญจำนวนมากตักตวงเอาน้ำมันตะเกียงจากที่นี่ไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งแม้แต่ในทุกวันนี้ก็ยังคงได้ผลอยู่ ภราดาอังเดร จากวัดนักบุญยอแซฟเมืองมองเรอัล (Montreal – ประเทศคานาดา) เป็นผู้หนึ่งที่นำน้ำมันจากที่นี่ไปใช้รักษาผู้ป่วยอย่างได้ผล

 สักการสถานแห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งเดียวที่แม่พระประจักษ์มามากที่สุด  เบอน้วตได้รับการประจักษ์อย่างน้อยเดือนละครั้งต่อเนื่องกันนานถึง 54 ปี และเป็นที่ซึ่งพระนางมารีย์เลือกใช้เบอน้วตเป็นเครื่องมือในการช่วยคนบาปให้กลับใจ เบอน้วตเองก็สัตย์ซื่อต่อพระกระแสเรียกที่ได้รับ เธอไม่เคยหยุดสวดภาวนา ทำพลีกรรมและปฏิบัติงานด้วยความร้อนรน

12. การสารภาพบาปและการหยั่งทราบสภาพของวิญญาณของผู้อื่น

ปกติการสารภาพบาปคือสิ่งที่สร้างความลำบากใจมากที่สุดของคริสตังจำนวนมาก  หลายคนแทนที่จะไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์และได้รับการอภัยบาป  กลับใช้วิธีทิ้งวัดและถลำตัวทำบาปหนักยิ่งขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระนางมารีย์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาลูกๆ ของพระนาง จึงประทานคุณสมบัติพิเศษแก่เบอน้วตในการหยั่งทราบสภาพวิญญาณของผู้อื่น   เช่นเดียวกับคุณพ่อยอห์น มารี เวียนเนย์  และคุณพ่อปีโอ ที่ได้รับพระพรเช่นเดียวกันนี้เพื่อการกลับใจของคนบาป

เบอน้วตผู้ได้รับการดลใจจากเบื้องบนช่วยกระตุ้นคนบาปปรับเปลี่ยนมโนธรรมให้อยู่ในแนวทางที่ถูกที่ควร  เธอชี้นำผู้ที่ “มองไม่เห็นบาปของตนเอง” และบางครั้งเมื่อจำเป็นเธอก็ใช้วิธีพูดกับผู้นั้นถึงบาปของเขาที่หลงลืมหรือกำลังปิดซ่อนอยู่  เธอกล่าวว่า “เธอสามารถมองเห็นสภาพวิญญาณของผู้คนทั้งครบ ในลักษณะเดียวกับการมองเห็นภาพในกระจกเงา”  เธอบอกให้ผู้นั้นทราบถึงข้อผิดพลาดของตนเอง, เรื่องที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง, บาปต่างๆ ทั้งหนักและเบา, สาเหตุการทำบาป, การหน้าไหว้หลังหลอก และสาเหตุที่ทำให้ผู้นั้นตกในบาปบ่อยๆ  เธอนำพวกเขากลับมามีวิญญาณที่ใสสะอาด, ไม่ลึกลับซับซ้อน และให้ผู้นั้นมีความตั้งใจแน่วแน่ในการปรับปรุงตนเอง บางครั้งเธอถึงกลับเดินออกไปฉุดผู้ที่กำลังคุกเข่าที่ โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อมิผู้นั้นรับศีลมหาสนิท เนื่องจากเธอทราบว่าผู้นั้นไม่อยู่ในสถานะพระหรรษทาน  หลายครั้งเบอน้วตจำต้องใช้วิธีพูดที่รุนแรง แต่เนื่องจากเธอกระทำด้วยความสุภาพและเปี่ยมด้วยเมตตาจิต ดังนั้นปกติผู้ที่ได้รับการพูดเตือนจะรู้สำนึกคุณของเธอ,  ยอมแก้ไขข้อบกพร่องทุกข้อของตนและกลับตัวเป็นคนดี งานที่ยาก ลำบากที่สุดของเธอคือการตักเตือนผู้ที่แม่พระทรงมีบัญชาให้เธอกระทำเป็นการเฉพาะ  และหากเธอเฉไฉไม่กระทำตาม แม่พระก็จะหน่วงเวลาการประจักษ์มาหาเธอด้วย การที่เธอเป็นช่นนี้มิใช่เพราะเธอหยิ่งยโสใดๆ  แต่เป็นเพราะเธอเป็นคนสุภาพถ่อมตนมาก และคิดว่าตนเป็นผู้ไม่เหมาะสมสำหรับงานนั้น 

พระสงฆ์องค์หนึ่งถามเธอว่า ทำไมเธอจึงไม่กระทำตามบัญชาของแม่พระในทันที เธอตอบว่า “พระมารดาพระเจ้ามีบัญชาให้ดิฉันทำงานในลักษณะที่อ่อนหวานมาก จนดิฉันไม่คิดว่าพระนางทรงมีพระประสงค์ให้ดิฉันทำงานนั้นจริงๆ  แต่พอดิฉันไม่กระทำตาม พระนางก็จะแจ้งให้ทราบโดยปราศจากอาการโกรธกริ้วใดๆ ดังนั้นเมื่อดิฉันละอายใจว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย  ดิฉันก็จะรีๆ รอๆ จนพระนางทรงมีบัญชาให้ทำเป็นครั้งที่สอง ดิฉันจึงปฏิบัติตาม” แต่งานของเธอมิใช่มีเพียงตักเตือนคนบาปให้กลับใจเท่านั้น... เธอยังต้องช่วยแนะนำการปฏิบัติงานของพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปบางองค์ด้วย

งานของเธอในส่วนที่เกี่ยวกับพระสงฆ์นั้น ได้แก่การแจ้งให้ท่านทราบถึงวิธีการตักเตือนหรือตั้งคำถามผู้แก้บาปโดยขาดวิจารณญาณที่เหมาะสม, การฟังแก้บาปแบบขอไปที หรือการไม่เต็มใจฟังแก้บาป  มีภราดาท่านหนึ่งชอบไปโน่นมานี่อยู่เป็นประจำเธอพูดกับท่านว่า “ขอให้ท่านอยู่ในที่เดิม เพราะเป็นสถานที่ท่านจะทำงานเพื่อความรอดของผู้คนได้ดีที่สุด แต่ท่านจะต้องสัตย์ซื่อต่อพระกระแสเรียกที่ได้รับด้วย”

เธอทราบว่าพระสงฆ์ที่กำลังถวายมิสซาอยู่มีประกายสดใส หรือมัวหมองตามสถานะทางวิญญาณของพระสงฆ์แต่ละองค์  เธอจะเตือนพระสงฆ์ที่มีจิตใจไม่บริสุทธิ์  พระสงฆ์หนุ่มจากอัมบเริงองค์หนึ่งกล่าวว่า “หากมโนธรรมของคุณไม่บริสุทธิ์ละก็ จิตใจของคุณจะหวั่นไหวเมื่อเข้าไปถวายมิสซาในวัดนั้น”

พระนางพรหมจารีไม่ยอมให้ผู้รับใช้ของพระนางทำงานขาดตกบกพร่อง แม่พระทรงสอนวิธีการทำงานที่เหมาะสมแก่เธอ “ลูกรักของแม่  ลูกต้องอดทนนะ... ลูกต้องทำงานด้วยร่าเริง... ลูกต้องไม่โกรธเกลียดผู้ต่อต้านการประจักษ์ ที่โลส์... ลูกอย่าเป็นกังวลหรือท้อใจเมื่อพวกเขาไม่กลับใจหลังจากที่ลูกได้ตักเตือนเขาแล้ว... ลูกต้องตั้งมั่นต่อสู้กับการล่อลวงของปีศาจทั้งในสภาพที่มองเห็นได้และไม่ได้...  ลูกต้องพยายามไม่ทอดทิ้งสายพระเนตรของพระเจ้า  เพราะใครก็ตามไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดจะไม่บังอาจล่วงละเมิดพระองค์ได้เลย”

13. การมีส่วนร่วมในพระมหาทรมาน

หญิงเลี้ยงแกะที่ถ่อมตนไม่อาจรักพระนางมารีย์ได้ หากเธอไม่มีความรักที่ลึกซึ้งในองค์พระเยซู พระบุตรของพระนาง  เธอได้เลือกพระองค์เป็นเจ้าบ่าวสำหรับวิญญาณของเธอแต่เพียงผู้เดียว และเธอกระหายที่จะมีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของพระองค์เพื่อการกลับใจของคนบาป  มีกางเขนใหญ่ตั้งตระหง่านตรงทางเข้าหุบเขาที่โลส์ ที่สามารถแลเห็นเมืองอาวังซองที่อยู่เบื้องล่าง  ทุกวันไม่ว่าจะฝนตกหรือหิมะตก เบอน้วตจะเดินลงเขาไปสวดภาวนาที่นั่น เธอจ้องมององค์พระผู้ไถ่บนมหากางเขน และจิตใจของเธอก็ละลายไปในความรักและความเมตตาเมื่อเธอคิดคำนึงถึงทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อความรอดของมนุษย์   การกระทำของเธอเป็นที่สบพระทัยของพระองค์ และดังนั้นพระองค์จึงประทานรางวัลให้ ด้วยการแสดงพระองค์ให้เธอเห็นในสภาพที่ทรงกำลังรับทรมาน  เธอแลเห็นพระองค์ถูกตรึงกางเขน ร่างกายเต็มไปด้วยโลหิตขณะที่กำลังทนทรมานอยู่อย่างแสนสาหัส   มีบาดแผลลึกฉกรรจ์ที่พระหัตถ์, พระบาทและที่พระปรัศว์ (สีข้าง) และมีโลหิตไหลเป็นทางยาวตามรอยแผลที่ทรงถูกเฆี่ยน

เธอเศร้าโศกมากเมื่อได้แลเห็นพระเยซูในสภาพเช่นนั้น และอุทานขึ้นว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้าคะ หากต้องแลเห็นพระองค์ในสภาพนี้อีกเพียง 1 อึดใจ ดิฉันคงต้องตายแน่!”  ภาพการถูกทรมานของพระองค์ฝังลึกในจิตใจของเธอเป็นอย่างมาก  จนวันหนึ่งอารักขเทวดาของเธอพูดปลอบเธอว่า “อย่าเป็นกังวลไปเลย ภคินีของฉัน  แม้ว่าพระอาจารย์ของเราจะปรากฏพระองค์ในสภาพเช่นนั้น  แต่ที่จริงพระองค์มิได้ทรงรับทรมานแล้ว พระองค์เพียงแสดงให้เธอเห็นว่าพระองค์เคยรับทรมานเพราะความรักต่อมนุษยชาติมากเพียงใดเท่านั้น” แต่ถ้อยคำปลอบประโลมของอารักขเทวดาก็มิได้ทำให้เธอรู้สึกสบายใจขึ้นเลย  เธอยังคงมีความรู้สึกสงสารพระองค์อย่างจับใจ

วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 1673 พระคริสต์ประจักษ์มาหาเธอในสภาพที่มีพระโลหิตกำลังไหลอยู่และตรัสแก่เธอว่า “ลูกสาวของเรา การที่เราปรากฏตัวในสภาพเช่นนี้ ก็เพื่อให้เธอมีส่วนร่วมในพระมหาทรมานของเราด้วย”   นับแต่นั้นมา  ทุกค่ำวันพฤหัสฯ จนถึงเช้าวันเสาร์ เธอได้มีส่วนในพระมหาทรมานการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย และเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 15 ปี ยกเว้นระหว่างปี 1677-79 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอมีหน้าที่เตรียมอาหารให้คนงานก่อสร้างบ้านพักพระสงฆ์  และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1679 เธอก็กลับมามีส่วนในพระมหาทรมานอีก

14. การต่อต้านและความทุกข์ที่มองไม่เห็น

ผู้ต่อต้านการประจักษ์ ที่โลส์ รวมถึงพระสงฆ์บางองค์ด้วย พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่เธอทำอยู่นั้น เป็นการกระทำของผู้ป่วยทางอารมณ์หรือไม่ก็เป็นอาการของคนเป็นโรคลมบ้าหมู และกล่าวหาพระสงฆ์จิตตาธิการการจาริกแสวงบุญที่นี่ว่าเป็น “พวกประสาทหลอน โง่เขลาเบาปัญญาที่ถูกเด็กหญิงที่เป็นโรคจิตหลอกลวง”  

โดยส่วนตัวแล้ว การมีส่วนในพระมหาทรมานทางกายของเบอน้วตทำให้ผู้คนเคารพนับถือเธอมากขึ้น แต่สิ่งนี้กลับทำให้เธอรู้สึกละอายใจเพราะความสุภาพถ่อมตนของเธอ และดังนั้นในวันหนึ่ง เธอจึงพูดกับพระมารดาผู้ใจดีว่า “ขอโปรดเพิ่มความทุกข์ทรมานให้ลูกมากกว่าที่เป็นอยู่ถ้าสิ่งนั้นเป็นที่พอพระทัยของพระ  แต่ช่วยทำให้อยู่ในสภาพที่คนอื่นสังเกตไม่เห็นด้วยค่ะ!”   และในวันเสาร์ต่อมา พระนางพรหมจารีก็ได้ประจักษ์มาหาเธอและกล่าวว่า “หนูจะไม่ได้รับเครื่องหมายการร่วมพระมหาทรมานในวันศุกร์อีกแล้ว แต่หนูจะได้รับความทรมานในรูปแบบอี่นๆ อีกหลายรูปแบบ”

และก็เป็นเช่นนั้น เพราะต่อมาเธอก็ได้รับความทรมานในอีก “หลายรูปแบบ” เธอรับรู้ความบ้าคลั่งของปีศาจที่อยู่รอบกาย ยิ่งกว่านั้น พระคริสต์ทรงประทับตราด้วยเครื่องหมายกางเขนทุกครั้งเมื่อเธอได้รับความทุกข์ทรมาน

คุณพ่อกานอง กัยยารด์กล่าวว่า ระหว่างปี 1664-1672 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการรวมตัวกันของผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการประจักษ์ แต่ในช่วง 20 ปีต่อจากนั้น เกิดมีข้อพิพาทในเรื่องนี้มากโดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ และต่อมาได้ขยายวงกว้างไปรวมเข้ากับพวกเฮเรติกนิกายแจนเซ็น (Jansenism) ที่เป็นภัยร้ายต่อพระศาสนา  คุณพ่อลัมแบรต์ผู้ปกครองสังฆมณฑลอัมบเริงถึงแก่มรณภาพ  หลังจากนั้นมีพระสงฆ์ของสังฆมณฑลอัม บเริงบางองค์ที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการประจักษ์นี้ ถือโอกาสออกประกาศต่อต้านเบอน้วตในทุกเรื่อง ระหว่างที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่แทนก่อนมีการเลือกพระสงฆ์ผู้ดูแลองค์ใหม่ พวกเขาติดประกาศที่ประตูพระมหาวิหารอัมบเริง และคุกคามที่จะตัดขาดจากพระศาสนจักรกับพระสงฆ์ทุกองค์ที่ถวายมิสซาในวัดแม่พระแห่งโลส์ นอกจากนั้นยังห้ามผู้คนมายังสถานที่แห่งนี้ด้วย แต่แม่พระได้มีบัญชาให้เบอน้วตไปจัดการ “เอาประกาศแผ่นนั้นออก... และให้มีการทำมิสซาในวัดต่อไปดังเดิม” ซึ่งเธอก็ได้ปฏิบัติตาม

การประจักษ์ของแม่พระที่โลส์ และเรื่องของเบอน้วตถูกต่อต้านอย่างหนักเป็นเวลา 20 ปี   พระสังฆราชองค์เดิมมีอายุมากขึ้นและสุขภาพไม่แข็งแรง  พระคุณเจ้าได้แต่งตั้งพระสงฆ์จิตตาธิการใหม่เป็นผู้ดูแลสถานที่นี้ 2 องค์ ซึ่งต่างก็ไม่เชื่อเรื่องการประจักษ์ และยังได้ขับไล่ผู้จาริกแสวงบุญรวมทั้งได้กักบริเวณเบอน้วตไว้เป็นเวลา 15 ปีโดยยอมให้ไปร่วมมิสซาในวันอาทิตย์ได้เท่านั้น

นอกจากนั้นปีศาจยังได้สร้างผลงานชิ้นโบว์แดง ด้วยการสร้างภาพล้อเลียนกิจศรัทธาของเบอน้วต ยังผลให้เกิดความสั่นคลอนต่อผู้ที่มีความเชื่อไม่มั่นคง ดังนั้นผู้คนจึงเลิกมาที่โลส์อยู่ช่วงหนึ่ง  ขณะเดียวกันพระสงฆ์ใจศรัทธารุ่นแรก 2 องค์ (คุณพ่อชัง เปย์จีเออ และคุณพ่อบาร์เธอเลมี แอร์มิตต์ ) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเบอน้วตเสมอมาได้มรณภาพลง  กระนั้นก็ดี ความพยายามที่จะทำลายคารวะสถานแห่งนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างเด็ดขาด  อารักขเทวดาของเบอน้วตปลอบใจเธอโดยบอกให้เธอทราบถึงอนาคตว่า “จะยังมีปัญหาและความวุ่นวายอยู่จนกว่าจะมีคณะนักบวชเข้ามาปฏิบัติงานที่นี่”

15. สถานการณ์คลี่คลายและอารักขเทวดา

หลังจาก “เงามืดแห่งโลส์” ปกคลุมที่โลส์อยู่เป็นเวลานาน  ที่สุดวันแห่งชัยชนะของเบอน้วตก็มาถึง  เมื่อพระสังฆราชแห่งอัมบเริง เลิกการเป็นปฏิปักษ์ต่อการประจักษ์ของแม่พระแห่งโลส์ และในปี 1712 หรือ 6 ปีก่อนการมรณภาพของเบอน้วต  พระคุณเจ้าได้มอบหมายให้พระสงฆ์คณะผู้พิทักษ์ (P?res Gardistes) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ใจศรัทธาและมีความเชื่อมั่นคงเป็นผู้อำนวยการดูแลกิจการการจาริกแสวงบุญทั้งหมดของที่นี่

วันที่ 18 มีนาคม 1700 อารักขเทวดากล่าวแก่เบอน้วตว่า “คารวะกิจที่โลส์ เป็นงานของพระเจ้า ซึ่งไม่มีมนุษย์คนไหนหรือปีศาจตนใดทำลายได้  ผลงานของพระองค์จะดำรงอยู่จนสิ้นพิภพ จะมีแต่ความรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นและจะส่งผลดีที่ยิ่งใหญ่ในทุกหนทุกแห่ง”

ในด้านหนึ่ง เบอน้วตถูกปีศาจร้ายจากขุมนรกทรมานซึ่งเธอก็ยอมรับเพื่อเห็นแก่การกลับใจของเหล่าคนบาป  แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอก็เจริญชีวิตอยู่ได้โดยได้รับกำลังใจจากเหล่านิกรเทวดา   เธอสนิทกับอารักขเทวดาของเธอเป็นพิเศษ  เธอเล่าให้อารักขเทวดาฟังถึงความทุกข์ทรมานและความทุกข์ทั้งหลายที่ได้รับ และปรึกษากับอารักขเทวดาอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งอารักขเทวดาก็สนองตอบเพราะความซื่อบริสุทธิ์และการวางใจอย่างเปี่ยมล้นของเธอ  อารักขเทวดาได้สอนเธอในเรื่องคุณธรรมของต้นไม้และช่วยเธอทำความสะอาดวัดน้อย     ครั้งหนึ่งเธอลืมผ้าคลุมไหล่ซึ่งมีสภาพขาดรุ่งริ่งที่เธอผูกไว้กับกิ่งไม้ในป่า  และขณะที่เธอกำลังทนทุกข์เพราะความหนาวเหน็บอยู่ในคืนนั้น อารักขเทวดาก็ได้ไปนำผ้าคลุมไหล่ผืนนั้นมาส่งให้เธอ  หลายครั้งอารักขเทวดาช่วยเธอเปิดประตูวัดและสวดสายประคำพร้อมกับเธอ แต่บางครั้งอารักขเทวดาก็แก้นิสัยของเธอด้วย เช่นในวันหนึ่งอารักขเทวดาได้ยึดสายประคำที่สวยงามที่มีผู้ให้เธอเป็นของกำนัล และเธอก็มีความผูกพันกับความงามของสายประคำนั้นมากเกินไป  อารักขเทวดาจึงยึดสายประคำนั้นไว้อยู่นานกว่าจะยอมส่งคืนให้เธอในอีกหลายวันต่อมา

ไม่ว่าเบอน้วตจะได้รับความทุกข์ทรมานเจ็บปวดสักเพียงใด เธอยังคงเป็นนักเรียนที่สัตย์ซื่อต่อพระนางมารีย์อยู่เสมอโดยเฉพาะในการทำหน้าที่ช่วยคนบาปกลับใจ  และเมื่อใดก็ตามที่พระมารดาไม่ประจักษ์มาหาเพื่อทดสอบเธอ ซาตานก็รีบฉวยโอกาสบอกเธอว่า “พระนางละทิ้งเธอไปแล้วรู้ไหม... เธอไม่มีทางไปไหนแล้ว นอกจากต้องให้ฉันช่วย!”   แต่ทุกครั้งเธอจะตอบซาตานว่า “ซาตานเอ๋ย ฉันยอมตายสัก 1000 ครั้ง ดีกว่าจะทอดทิ้งพระนางมารีย์แม้เพียงชั่วขณะ!”

16. วาระสุดท้ายของเบอน้วต

ในบั้นปลายของชีวิต เธอล้มป่วยเป็นไข้ตัวร้อนจัด แต่ละคืนดูเหมือนจะ “ยาวนานแรมปี” เธอต้องนอนอยู่กับที่เป็นเวลา 1 เดือนก่อนจะจากโลกนี้ไป  และในวันคริสต์มาสปี 1718      หลังจากที่เธอได้กล่าวขอโทษต่อทุกคนที่อยู่รอบตัวเธอ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เธออาจทำตนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อพวกเขาในบางครั้ง เธอได้ขอให้พระสงฆ์โปรดศีลเจิมให้ และทันใดนั้นพระมารดาผู้อ่อนหวานของเธอก็ได้ประจักษ์มาหา พร้อมกับกลิ่นที่หอมหวานไปทั่วห้องที่เธอนอนอยู่

พระสงฆ์คณะผู้พิทักษ์ได้สวดขอให้เธอหายป่วยและอยู่กับพวกเขาอีก 2 ปี แต่ในวันที่ 28 ธันวาคม เธอยืนยันขอรับศีลเจิมอีก เพราะเธอทราบดีว่าเธอจะเข้าอยู่ในกลุ่มทารกผู้วิมลในวันฉลองของพวกเขาในวันนั้นเธอได้รับศีลเจิมเวลาบ่าย 3 โมง และไม่มีอาการตรีทูตหรือทุรนทุรายใดๆ คุณพ่อโรแยร์กล่าวกับเธอว่า“พวกเราเป็นลูกของเธอ ขอให้เธอช่วยอวยพรพวกเราก่อนจะจากไปได้ไหมครับ?”

ตอนแรกเธอตั้งท่าจะปฏิเสธเพราะความถ่อมตน แต่ที่สุดความซื่อประสาเด็กของเธอก็เป็นฝ่ายชนะโดยเธอกล่าวตอบว่า “คงต้องเป็นภารกิจของพระมารดาของเราในการอวยพระพรให้แก่พวกท่าน” และทันทีเธอก็ยกมือขึ้นจากเตียง เพราะไม่ต้องการให้พวกเขาผิดหวัง และกล่าวว่า “ดิฉันจะอวยพรแก่คุณพ่อที่น่ารักทุกองค์ด้วยความเต็มใจอย่างที่สุด” จากนั้นเธอก็กล่าวอำลาพวกเขาอย่างเรียบง่าย

ประมาณ 2 ทุ่มค่ำนั้นเอง หลังจากที่มีการสวดภาวนาสำหรับผู้ที่กำลังจะจากไปจบ  เธอได้ขอให้ลูกทูนหัวของเธอสวดบทเร้าวิงวอนต่อพระกุมารเยซู และเธอก็ได้จากไปในความสุขสงบขณะที่มีอายุได้ 71 ปี  ชื่อของภคินีเบอน้วต รังกือเรล ได้รับการบันทึกในทำเนียบคารวียะ (Venerable) ในปี 1871 และในทำเนียบบุญราศีในปี 1984 และที่สุดในทำเนียบนักบุญเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2008 นี้เอง  ส่วนวัดแม่พระแห่งโลส์ เป็นวัดที่จัดอยู่ในระดับมหาวิหารน้อย (Minor basilica) ตั้งแต่ปี 1983

17. ความศรัทธาต่อแม่พระแห่งโลส์

ผู้ที่มีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระแห่งโลส์ มีอยู่มาก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงบางท่านเท่านั้น  ได้แก่นักบุญยูจีน แห่ง มาเซโนด์ (Eugene de Mazenod : 1782-1861) ผู้ก่อตั้งคณะออบเลตส์ (Oblates) แห่งมารีย์ผู้นิรมล, นักบุญปีเตอร์ จูเลียน เอย์มารด์ (Peter Julian Eymard : 1811-1868) ผู้ก่อตั้งคณะพระสงฆ์และผู้รับใช้ศีลมหาสนิท, ฤษียอห์น บัปติส โชตารด์ : 1858-1935 เจ้าอาวาสแห่งแซ็ต-ฟ็องส์ (Sept-Fons) เป็นต้น

นักบุญยูจีน แห่ง มาเซโนด์ เป็นผู้ดูแลสักการสถาน ระหว่างปี 1819-1840  ระหว่างที่ดูแลอยู่นั้น ท่านได้ย้ายบ้านเณรของท่านมาที่โลส์ โดยมีคุณพ่อบรูโน กีเกส (Bruno Guigues) เป็นคุณพ่ออธิการ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสังฆราชองค์แรกแห่งสังฆมณฑลอ๊อตตาวา ประเทศแคนาดา

นักบุญปีเตอร์ จูเลียน เอย์มารด์ ขณะที่มีอายุเพียง 11 ขวบได้รบเร้าผู้ปกครองจนได้รับอนุญาตให้เดินเท้าระยะ 60 กม.เพื่อจาริกแสวงบุญโดยที่ต้องขอขนมปังจากชาวบ้านเป็นอาหารระหว่างทางมายังโลส์  จากนั้นก็เตรียมตัวรับศีลมหาสนิทครั้งแรกอยู่ที่สักการสถานนี้เป็นเวลา 9 วัน  ท่านได้บันทึกในภายหลังว่า “นี่คือสถานที่ผมรู้จักและรักพระนางมารีย์”  ตลอดชีวิตท่านมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อ “พระมารดาแห่งโลส์”  และทุกครั้งที่ท่านเหนื่อยล้าอย่างที่สุด ท่านก็จะมาพักผ่อน ณ สักการสถานแห่งนี้

พระมารดาแห่งโลส์ ที่หลบภัยของคนบาป โปรดเหลียวมองด้วยความเมตตาสงสารยังสภาพที่ตกต่ำทางกายและใจในยุคนี้ด้วยเทอญ! โปรดเมตตาสงสารลูกๆ ของพระนาง โปรดให้พวกเราทุกคนกลับใจและรักพระบุตรผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระนางด้วยเทอญ!