หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ประวัติเปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้น เป็นชาวเมืองหุ้นหนำกุ้ย ขึ้นกับเมืองกุยจิวเสีย อยู่ตำบลเปาเก แซ่เปา ชื่อบุ้นจิ้น เป็นบุตรชายของเปาเบ๊ะบ้วน และนางหลีสี อันหยิน มีพี่ชายสองคน คือเปาบุ้นกุ้ย และ เปาบุ้นลุ้ย
เปาบุ้นกุ้ยเป็นพี่ชายคนโต มีภรรยาชื่อนางหลิวสี เปาบุ้นลุ้ยเป็นพี่ชายรอง มีภรรยาชื่อนางกังสี ส่วนเปาบุ้นจิ้น มีภรรยาชื่อ นางเตียวกุยกี
 

ในช่วงที่เปาบุ้นจิ้นเกิดปรากฎว่า มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั้งบ้าน พอคลอดออกมาร้อง อุแว้ อุแว้ แสงสว่างได้ส่องกระจายไปทั่วบ้าน แสดงว่ามีคนดีมาเกิด และคนดีคนนี้จะสร้างความสงบสุขให้แก่บ้านเมือง เป็นที่พึ่งพิงของราษฎรได้ในภายหน้าเปาบุ้นจิ้นเกิดมามีหน้าดำมิดหมี บ้านใกล้เรือนเคียงพากันมาเยี่ยม เห็นทารกหน้าดำปี๋ ต่างทำหน้าเบ้ไปตามๆกัน นึกรังเกียจทารกว่าจะเป็นปีศาจมาเกิด หน้าตาจึงได้ผิดมนุษย์มนาไปเช่นนี้ชาวบ้านก็โจษขานกันว่า ปีศาจมาเกิด ทำให้เปาเบ๊ะบ้วน ใจคอไม่ดี พลอยนึกไปในทางอกุศลแก่ลูกของตนว่า
“อ้ายเด็กคนนี้คงเป็นปีศาจมาเกิด ขืนเลี้ยงไว้จะเป็นเสนียดจัญไรแก่บ้าน
ได้ปรึกษากับหลีสีอันหยิน เห็นพ้องกันว่า จะต้องเอาไปทิ้งไว้ในป่า หากเอาไว้ในบ้านจะนำความพินาศมสู่ตระกูลเปา
เปาเบ๊ะบ้วน เป็นชาวบ้านธรรมดา มีอาชีพทางเกษตร ทำไร่ทำนา คบหาสมาคมเฉพาะคนพวกเดียวกัน แม้จะมั่งมีเงินทอง ก็หาได้เรียนหนังสือหนังหาไม่ ไม่ได้ศึกษาทางธรรม จึงไม่อาจเข้าใจเหตุผล ไม่อาจแยกแยะชั่วดีได้อย่างถูกต้อง แม้นางหลีสีอันหยินก็ไม่รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม รู้แต่เรื่องทำมาหากินเท่านั้น หนำซ้ำยังเป็นคนเชื่อถือโชคลางอีกด้วย จึงตัดสินใจไปด้วยโหจริต คิดจะเอาลูกไปทิ้ง
 

ในขณะที่บิดา มารดา กำลังปรึกษากันอย่างโง่ๆอยู่นั้น นางหลิวสี บุตรสะใภ้คนโตผู้มีสติปัญญา ซึ่งนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลได้ยินเข้าจึงขอร้องบิดามารดาจะรับเลี้ยงไว้ ถ้ามีภัยอันตรายเกิดขื้น ก็จะขอรับผิดชอบเอง ไม่ให้เสียแก่บิดามารดา
แม้บิดามารดาจะไม่เห็นด้วย และถึงกับโกรธขึ้ง แต่นางหลิวสีสะใภ้ใจบุญผู้ฉลาดก็ดื้อดึงเอาไว้ เพราะนางเห็นนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะเปาบุ้นจิ้นคลอดออกมานั้น นางเชื่อว่า โตขึ้นเด็กคนนี้จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามาก นางหลิวสีรับทารกนั้นไปเลี้ยงไว้ แล้วใหตั้งชื่อว่า เปาบุ้นจิ้น
บิดามารดาจะรังเกียจเดียดฉันอย่างไร แต่เปาบุ้นกุ้ย และเปาบุ้นลุ้ย พร้อมพี่สะใภ้ทั้งสองไม่เคยรังเกียจ กลับจะให้ความเมตตามากยิ่งขึ้น
 

เปาบุ้นจิ้น เป็นเด็กมีสติปัญญาดี ไม่มีความประพฤติเสียหายเมื่อโตขึ้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สูง ครั้นสมัครไปสอบไล่ ก็สามารถสอบไล่ได้เป็นจอหงวน ได้รับพระราชทานช่อดอกไม้ทองเสียบหมวกจากฮ่องเต้
ต่อมา ได้รับตำแหน่งเป็นนายอำถอเมืองเตี้ยตักกุ้ย แทนนายอำเภอคนเก่าที่ถึงแก่กรรม ตอนนั้นอายเพียง ๑๙ ปีนับว่าหนุ่มที่สุด
บิดา มารดา พี่ซาย และพี่สะใภ้ ดีใจกันใหญ่หน้าดำของเปาบุ้นจิ้น ที่บิดามารดาเคยตั้งข้อรังเกียจ ก็ไม่รู้สึกกันอีกต่อไปนี่แหละหนาคนเรา !
เปาบุ้นจิ้นได้เป็นนายอำเภอมาไม่นานนัก ก็ได้สละโสดแต่งงานกับนางเตียวกุยกี
แม้ใบหน้าของเปาบุ้นจิ้นจะดำคล้ำไปหน่อย ผิดกับเจ้าสาวซึ่งสวยงามยิ่งนัก แต่เปาบุ้นจิ้นก็เป็นคนดี มีวาสนาได้เป็นขุนนางตั้งแต่ยังหนุ่ม นางเตียวกุยจึงมีความพอใจ
ไม่ถึงกับต้องหล่อเหลา ขอเพียงเป็นคนเอาการเอางานขยันอดทน มีความคิดสร้างสรรค์ ฝันใฝ่ในทางดีงาม ไม่มีผู้หญิงที่ฉลาดคนไหนหรอกจะไม่เหลียวแล
นายอำเภอเปาบุ้นจิ้น ได้ทำหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตยสุจริต อุทิศชีวิตเพื่อบ้านเมือง บำบัดทุกข์บำรุงสุข ราษฎรจนเป็นทียินดีกันทั่วหน้า จึงได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการเป็นเจ้าเมือง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ เป็นที่เกรงขามของบรรดาข้าราชการทั้งน้อยใหญ่ แม้องค์ฮ่องเต้ก็ยังทรงเกรงพระทัย
ขุนนางกังฉินทั้งเกลียดและกลัวท่าน แต่ขุนนางตงฉิน และราษฎรทั้วไปรักท่าน เพราะเปาบุ้นจิ้นท่านเป็นขุนนางที่ติดดิน ไม่ใช่ขุนนางที่คอยฟังแต่รายงาน ท่านคอยตรวจตราสุขทุกข์ของราษฎรด้วยตัวของท่านเอง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหน ท่านจึงแก้ไขได้หมด ท่านเป็นข้าราชการประเภทที่เรียกว่า “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด”
ถ้าพูดถึงการตัดสินคดีความของท่านแล้ว นับว่าไร้เทียมทานท่านเป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมที่สุด เพราะท่านไม่ได้อ่านเฉพาะคำฟ้องเท่านั้น แต่ท่านพยายามไขว่คว้าพยานหลักฐานมาด้วยตนเองท่านออกพบปะประชาชน ค้นหาความจริงนอกบัลลังก์ศาล คำพิพากษาของท่านจึงบริสุทธิ์ ไม่มีใครสงสัยท่านจึงได้ชื่อว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม”
ในฐานะเป็นขุนนางผู้ใหญให้คำ ปรึกษาแก่จักพรรดิ์องค์ฮ่องเต้เปาบุ้นจิ้นกระทำหน้าที่นี้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริง อันไหนควรก็บอกว่าควร อันไหนไม่ควรก็บอกว่าไม่ควร
เปาบุ้นจิ้นกล้าขัดพระทัยองค์ฮ่องเต้ ถ้าพระองค์จะทรงกระทำในสิ่งที่ผิด กล้าแนะนำองค์ฮ่องเต้ในสิ่งที่ถูก ทำให้องค์ฮ่องเต้ไม่กล้ากระทำผิด ทรงมีหริโอตตัปปะมากขึ้น ดำรงพระองค์อยู์ในทศพิธราชธรรม และรักรราษฎรมากขึ้น เห็นราษฎรเป็นเหมือนลูกหลาน ที่จะต้องทรงรักษาดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า
เมื่อองค์ฮ่องเต้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม คือ
๑. บำรุงเลี้ยงช่วยเหลือราษฎรให้อยู่ดีมีสุข ทรงสละพระราชทรัพย์ เพื่อราษฎรได้อยู่สำราญใจ (ทาน)
๒. มีความประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชน (ศีล)
๓. สละความสุขส่วนพระองคได้ เพื่อประโยชน์ และความสุขของประชาชนและสันติความสงบของบ้านเมือง ตลอดจนพระชนม์ชีพก็สามารถสละได้ หากว่าจะสามารถยังความสุข ความเจริญให้เกิดแก่ราษฎรได้ (ปริจจาคะ)
๔. ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความจริงใจต่อประชาชน (อาชชวะ)
๕. มีอัธยาศัยอ่อนโยน กิริยาสุภาพ นุ่มนวล ไม่เย่อหยิ่งหยาบกระด้าง เห็นแล้วงามสง่า น่าภักดี (มัททวะ)
๖. สามารถระงับดับกิเลสได้ ไม่ลุ่มหลงในความสุขสำราญ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย และมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรปฎิบัติภารกิจให้สมบูรณ์ (ตปะ)
๗. ไม่โกรธเกรี้ยว ลุอำนาจแก่โทสะ จนเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดในเรื่องที่ทรงกระทำ และเสียหายแก่ธรรม กับมีเมตตกรุณาประจำพระทัย (อักโกธะ)
๘. ไม่ทำอะไรที่เป็นการกดขี่บีบคั้นราษฎร เช่นไม่เก็บภาษีอย่างขูดรีด ปีไหนเศรษฐกิจไม่ดี ราษฎรยากจน ก็ควรงดเก็บภาษีหรือเก็บภาษีให้น้อยลง ทำให้ราษฎรมีทุนทำมาหากินต่อไปได้ ไม่ลุ่มหลงอำนาจ จนขาดเมตตากรุณา แล้วหาเหตุเบียดเบียนราษฎรให้เป็นทุกข์ (อริหิงสา)
๙. มีความอดทน อดทนต่อภารกิจ อดทนต่อความเจ็บไขได้ป่วย อดทนต่อความบีบคั้นทางใจ ทนต่อกิเลสที่มายั่วยวนกวนใจได้ ไม่ยอมละทิ้งสิ่งดีงาม (ขันติ)
๑๐. วางพระองค์หนักแน่นอยู่ในธรรมไม่หวั่นไหวในโลกธรรมยึดมั่นในหลักนิติธรรมอันถูกต้อง ไม่ประพฤติผิดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม (อวิโรธนะ)
ฮ่องเต้ที่ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม จะไม่มีเวลาสำหรับกระทำผิดให้เสียหาย จะมีเวลาแต่ปกครองราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข จะทรงรักษาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข พระองค์จะทรงรักราษฎรมากขึ้นห่วงใยราษฎรยิ่งกว่าพระองค์เอง
เมื่อฮ่องเต้ทรงรักและห่วงใยราษฎร ราษฎรก็ย่อมจงรักภักดีต่อพระองค์ องค์ฮ่องเต้อยู่ได้ด้วยราษฎรภักดี หาใช่อยู่ที่ความประจบสอพลอของเหล่าขุนนางไม่
ขุนนางอย่างเปาบุ้นจิ้น จะไม่แนะนำให้องค์ฮ่องเต้ออกไปจากหลักธรรมอันนี้ จะไม่ประจบสอพลอเพื่อเอาดีเฉพาะตัว นี่แหละขุนนางตงฉิน ผู้จงรักภักดีที่แท้จริง
เปาบุ้นจิ้นเริ่มรับราชการมาตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี จนถึง ๑๐๕ ปีอันเป็นปีที่หมดอายุพอดี รวมเวลารับราชการนับได้ ๙๐ ปีเต็มๆ
ตั้งแต่ทำราชการมา เปาบุ้นจิ้นมีแต่ความซื่อสัตย์ สุจริตไม่เคยฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่เคยกินตามน้ำหรือทวนน้ำ ไม่ใช่ว่าโง่เขลาคอร์รัปชั่นไม่เป็น หามิได้ เปาบุ้นจิ้นเป็นคนฉลาดมาก ทำการอันใดไม่เคยพลาด แม้มีอำนาจล้นมือแต่ไม่เคยใช้อานาจในทางมิชอบ
คนเช่นนี้แหละจึงจะเรียกว่าเป็นผู้รับใช้แผ่นดิน และประชาชนผู้ยิ่งใหญ่

เปาบุ้นจิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เปาบุ้นจิ้น เป็นวีรบุรุษที่สำคัญอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน กล่าวกันว่าเคยมีชีวิตอยู่จริง ระหว่างปี ค.ศ. 999 - 1062 มีชื่อจริงว่า เปาเจิ่ง (??) รับราชการในสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่เคารพในฐานะเทพจ้าแห่งความยุติธรรม ชาวจีนเรียกว่า เปากง ส่วนคำว่า เปาบุ้นจิ้น นั้น เป็นคำในสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า เปาอุ๋นเจิ่ง
มีประวัติเล่าว่าท่านเปารับราชการเป็นเวลา 35 ปี ในฝ่ายบริหาร เริ่มตั้งแต่นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เจ้าเมืองไคฟง เสนาบดีการคลัง เป็นต้น ประวัติของเปาบุ้นจิ้นส่วนใหญ่เน้นที่การตัดสินความ แม้ว่าความจริงแล้ว เปาบุ้นจิ้นไม่ได้มีอาชีพเป็นตุลาการก็ตาม ความเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ ทำให้ผู้คนพากันยกย่อง และคอยร้องทุกข์ต่อเปาบุ้นจิ้นเสมอ
เปาบุ้นจิ้นมีหลักในการบริหารว่า "จิตใจสะอาด บริสุทธิ์ คือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ไว้ อย่าให้คนรุ่นหลังเย้ยหยันได้"
นอกเหนือจากการตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เปากงผู้นี้ก็ยังมีชื่อเสียง ในฐานะข้าราชการตงฉิน ไม่เคยรับสินบนใดๆ แม้จะเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
มีการเขียนยกย่องเปาบุ้นจิ้นไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์จีน ว่า "เป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง และกดขี่ขูดรีดประชาชน แม้จะเกลียดคนเลว แต่ท่านก็มิใช่เป็นคนดุร้าย ท่านเป็นคนซื่อสัตย์และให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนา ท่านไม่เคยคบคนง่ายๆ อย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งทำหน้าชื่นและป้อนคำหวานเพื่อเอาใจคน ท่านมีชีวิตความเป็นอย่างอย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน จึงไม่มีฝักไม่มีฝ่าย แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง เสื้อผ้า เครื่องใช้และอาหารการกินก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งยังเป็นคนสามัญธรรมดาเลย"
ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้นนี้มีปรากฏการบันทึกไว้เพียงเล็กน้อย แต่มีการแต่งไว้ในเรื่องพื้นบ้าน นิทาน หรือละครมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องราวเหล่านั้นแปลกออกไปเพียงใด เนื้อแท้ก็คงยังต้องการสะท้อนความจริงที่ว่าสังคมยังต้องการยกย่องคนทำดี และมีความชื่นใจที่คนทำชั่วได้รับผลกรรม
ปัจจุบัน เปาบุ้นจิ้นได้รับการเคารพยกย่องเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง ทั้งจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวจีนโพ้นทะเล และชนชาติอื่นๆ แม้กระทั่งชาวไทย