หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ตำนาน happy new year

เปิดตำนาน “Happy New Year”
 
“Happy New Year” หรือ “โชคดีปีใหม่” คือคำพูดที่ใครๆ ก็ต้องพูดเป็นประโยคแรกของปี ไม่ว่าจะพูดกับคนที่รักและหรือเพื่อนฝูงที่ร่วมฉลองคืนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ด้วยกัน ในคืนของวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ นั่นคือคืนของวันที่ 31 ธันวาคมของแต่ละปีนั่นเอง

เคยสงสัยไหมว่าทำไมจะต้องฉลองปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีด้วย ???

การฉลองวันขึ้นปีใหม่นั้นอันที่จริงมีมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ในยุคของบาบิโลเนีย เมื่อกว่า 4,000 ปีมาแล้ว โดยยึดเอาวันแรกของฤดูใบไม้ผลิเป็นวันขึ้นปีใหม่ ไม่ใช่วันที่ 1 มกราคมเช่นการฉลองในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญวันแรกที่จะเริ่มต้นการเพาะปลูกของปี และการเฉลิมฉลองในยุคนั้นใช้เวลากันยาวนานถึง 11 วัน ด้วยถือว่าเป็นการเริ่มชีวิตใหม่ ในวันแรกของการผลิบานของพืชพันธุ์ธัญญาหาร รวมถึงการเริ่มงานใหม่ของปี ซึ่งการฉลองในแต่ละวันก็ไม่ซ้ำกัน

สำหรับชาวโรมัน การเฉลิมฉลองปีใหม่เริ่มกันในช่วงปลายเดือนมีนาคม และการกำหนดวันเฉลิมฉลองเป็นไปตามพระประสงค์ของซีซาร์แต่ละองค์ ไม่มีการกำหนดตายตัวจนถึงยุคของ Julius Caesar ซึ่งเป็นผู้เริ่มปฏิทินที่เรียกว่า Julian Calender และกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่

การนำเอาเด็กทารกมาเป็นสัญลักษณ์ของปีใหม่เริ่มมาตั้งแต่ยุคโบราณเช่นกัน โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีก และเรื่อยไล่มาจนถึงยุคคริสเตียนดั้งเดิม และแม้กระทั่งในเยอรมนีในยุคกลางและสหรัฐอเมริกาในยุคต้นๆ
ความเชื่อว่าบุคคลแรกที่จะมาเยือน วัตถุที่จะนำมาใช้ หรืออาหารที่จะบริโภคในวันขึ้นปีใหม่นั้น จะส่งผลให้เกิดโชคหรือเคราะห์สำหรับปีใหม่ที่มาถึง เช่นบุคคลที่มาเยือนเป็นคนแรกหากเป็นชายผอมสูง ผมดำ จะนำโชคมาให้ ชาวดัตช์เชื่อว่าการบริโภคโดนัทในวันขึ้นปีใหม่ เป็นการนำโชคมาสู่ครอบครัวและตนเอง เพราะโดนัทมีทรงวงแหวน อันถือได้ว่าเป็นวงแหวนนำโชค และเป็นการช่วยให้ชีวิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ

ในหลายท้องที่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าการบริโภคถั่วที่ชื่อ black-eyed peas โดยนำมาปรุงเป็นอาหารกับขากรรไกรของหมูตอนหรือแฮม เป็นอาหารมื้อนำโชคสำหรับปีใหม่ ที่เชื่อว่าปีใหม่ทุกสิ่งจะง่ายไปหมด น่าจะเป็นความเชื่อเหมือนกับที่หลายคนเชื่อว่า “ง่ายเหมือนกินหมู” แม้กระทั่งคนไทยหลายกลุ่มก็เชื่อเช่นนี้เหมือนกัน

กะหล่ำปลีเป็นผักที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ จึงนำเอาใบกะหล่ำปลีมาใช้ปรุงเป็นอาหารมื้อแรกของปี โดยเชื่อว่าเมื่อบริโภคแล้วปีใหม่จะเป็นปีของความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ เพราะใบของกะหล่ำปลีมีสีสันที่คล้ายคลึงกับสีเขียวของธนบัตรดอลลาร์อเมริกัน และบางแห่งก็เชื่อว่าการบริโภคข้าวก็เป็นการเริ่มต้นปีของความสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

สำหรับชาวสเปนเชื่อกันว่า การใส่ชุดชั้นในสีแดงในวันขึ้นปีใหม่จะส่งผลให้ผู้สวมใส่โชคดีตลอดปี จึงมีผู้ซื้อหาชุดชั้นในสีแดงทั้งหญิงและชายมาสวมใส่ในวันขึ้นปีใหม่จำนวนไม่น้อย

เพลงที่นิยมร้องกันในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับวันปีใหม่คือเพลง Auld Lang Syne อันมีความหมายถึง The good old days หรือ Old long ago ซึ่งแต่งโดย Robert Burns ที่แต่งขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 หรือร่วม 300 ปีมาแล้ว และเริ่มมีการพิมพ์เนื้อเพลงแจกจ่ายออกไปเมื่อ Burns สิ้นชีวิตลงในปี ค.ศ. 1796 และด้วยความไพเราะของเพลงนี้ ที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและนำมาร้องกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชนที่ใช้ภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นเพลงที่ถูกนำไปร้องทั่วทุกหนทุกแห่ง และเริ่มมีการนำมาแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 10 ภาษา และถูกนำไปร้องวาระต่างๆ ด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา การนับถอยหลังของคืนวันส่งท้ายปีเก่า เริ่มมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ไปยังผู้ชมทั่วโลก แน่นอนว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในซีกโลกตะวันออก จะได้เฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้ก่อนใครๆ โดยเริ่มจากหมู่เกาะคริสต์มาสในมหาสมุทรแปซิฟิก ไล่เรื่อยไปยังเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่เอเซียตามเมืองหลวง เช่น ปักกิ่ง ฮ่องกง กรุงเทพฯ นิวเดลี โดฮา อิสตันบูล และเริ่มเคลื่อนไปตามเมืองสำคัญต่างๆ ในยุโรป เช่น เบอร์ลิน เวียนนา โรม ปารีส ลอนดอน ข้ามทวีปสู่นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. และซานฟรานซิสโก

การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในวันที่ 31 ธันวาคมต่อเนื่องถึงวันที่ 1 มกราคม จึงเป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของปี ในหมู่ของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตาม ที่ล้วนนับเอาวันสำคัญที่กำหนดขึ้นนี้ว่า เป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่แบบสากล คือคืนของการเฉลิมฉลองร่วมกันในที่สาธารณะ พลุสีขนาดต่างๆ ถูกจุดให้ขึ้นไปแตกกระจายสว่างไสวไปทั่วท้องฟ้าดอกแล้วดอกเล่า พร้อมๆ กับเสียงอึกทึกครึกโครมที่เกิดจากความยินดีของมหาชนที่ไปชุมนุมตามจัตุรัสและสถานที่สำคัญๆ ของแต่ละเมือง

ผู้คนแต่ละประเทศล้วนมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมส่งรอยยิ้มให้กันและกันเพื่อที่จะกล่าวคำว่า “โชคดีปีใหม่” ซึ่งถือว่าเป็นคำอวยพรที่เป็นมงคล ให้ทุกคนที่ได้รับล้วนโชคดีโดยถ้วนหน้า