หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ดื่มน้ำเย็นเป็นอันตรายจริงหรือ?

ดื่ม 'น้ำเย็น' เป็นอันตรายจริงหรือ? 
 
 ผู้เขียนได้รับอีเมลฉบับหนึ่ง จั่วหัวว่า “ดื่มน้ำเย็น สดชื่นดี แต่อันตราย” พอเปิดอ่านตอนแรกก็ตกใจ เพราะปัจจุบันใคร ๆ ก็ดื่มน้ำเย็นกันทั้งนั้น

โดยข้อความที่ส่งต่อ ๆ กันมามีใจความว่า “เวลาได้กินน้ำเย็น ๆ สักแก้ว หลังอาหารมันรู้สึกชื่นใจดีใช่มั้ยครับ แต่ว่าน้ำเย็น จะทำให้ไขมันที่คุณเพิ่งกินเข้าไปจับตัวเป็นไขขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลให้การย่อยอาหารช้าลง ถ้าคราบไขมันทำปฏิกิริยากับกรด มันจะแตกตัวแล้วถูกดูดซึม ไปที่ลำไส้ ไขมันที่แตกตัวนี้จะดูดซึมได้เร็วกว่าอาหารทั่วไปแล้วจะเคลือบลำไส้เราไว้ ในไม่ช้ามัน ก็จะแปรสภาพเป็นไขมันก้อน ๆ และเป็นบ่อเกิดของมะเร็งในที่สุด ดังนั้นควรดื่มน้ำอุ่นหลังอาหาร ดีกว่า”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ อายุรวัฒน์นานาชาติ อธิบายว่า ความจริงการดื่มน้ำเย็นหลังอาหาร คงไม่เป็นอันตราย ถึงขั้นทำให้ไขมันจับ ตัวเป็นไข เป็นก้อนขนาดนั้น เพราะปกติอุณหภูมิร่างกายคนเราอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส น้ำที่เราดื่มเข้าไปถึงจะเย็น แต่ร่างกายเราร้อนอยู่แล้ว ก็จะเปลี่ยนให้เป็นน้ำอุ่น ๆ อยู่ดี ไขมันกว่าจะจับกันเป็นก้อนแข็ง ต้องอาศัยอุณหภูมิเหมือนอยู่ในตู้เย็น 3-4 องศาเซลเซียส กรณีนี้จึงเป็นข้อความหลอก

ถ้าถามว่า เราควรจะดื่มน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นดี ก็ต้องขอเรียนว่า น้ำเย็นจะช่วยเติมน้ำให้ร่างกายได้ดีกว่าน้ำอุ่น เพราะว่าน้ำเย็นดูดซึมได้เร็วกว่า

ตรงนี้เป็นข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาของสหรัฐ เขาบอกเลยว่า น้ำที่ควรจะดื่มถ้าอยากให้สดชื่น ออกกำลังกายได้อึดขึ้น อุณหภูมิควรอยู่ที่ประมาณ 15-22 องศาเซลเซียส หรือง่าย ๆ คือ ให้ดื่มน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายไม่มีงานวิจัยฉบับไหนเลย ที่บอกว่าดื่มน้ำเย็นแล้วจะเป็นมะเร็ง อีเมลในลักษณะนี้มีการส่งต่อกันไปทั่ว แม้แต่ในต่างประเทศ ดูเหมือนจะเป็น วิชาการ แต่กลับไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มารับรอง ทำให้คนกลัวกันมาก ดังนั้นคนที่ได้รับอีเมลจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดี

การดื่มน้ำเย็นเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะ จะช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานในการทำให้น้ำอุ่นขึ้น โดยน้ำ 1 แก้ว จะช่วยเผาผลาญไขมันประมาณ 9 กิโลแคลอรี ถ้าเราดื่มน้ำ 8 แก้วก็จะเผาผลาญไขมันได้ถึง 70 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่า ยิ่งดื่มน้ำมาก ก็จะยิ่งช่วยลดความอ้วน แต่ในคนที่กำลังลดความอ้วน ลดปริมาณอาหารแต่ลืมดื่มน้ำ ต้องระวัง เพราะน้ำหนักจะไม่ลง เพราะน้ำคือตัวช่วยทำให้ไขมันสลายเร็วขึ้นนั่นเอง

ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า การดื่มน้ำ มาก ๆ ไตจะทำงานหนักไปหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า น้ำจะเป็นพิษต่อร่างกายนั้น ต้องดื่มมากเป็น 10 ลิตร อย่างเช่น กรณีการรับน้องแบบพิเรนทร์ ๆ ที่เราเห็นข่าวกัน ส่วนคนทั่วไปดื่มน้ำอย่างเก่งสัก 5 ลิตรก็ไม่เป็นอะไร

ดังนั้นไม่ว่าจะดื่มน้ำเย็น น้ำร้อน หรือน้ำอุณหภูมิปกติ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร หลักการ ง่าย ๆ คือ น้ำเย็น ควรดื่มเวลาออกกำลังกาย จะดูดซึมเร็ว แต่มีข้อห้ามในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะจะยิ่งทำให้ปวดท้องมากขึ้น ส่วนน้ำอุ่น ควรดื่มเพื่อกระตุ้นลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวดี เช่น เวลาท้องเสีย เจ็บคอ เป็นหวัด นพ.กฤษดา บอกว่า ใครที่ไม่อยากแก่ ต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น เนื่องจากผิวที่แก่เกิดจากการขาดน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ ยังช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง แต่ถ้าดื่มน้ำน้อย โดยเฉพาะในผู้ชายอาจทำให้น้ำไปเลี้ยงอสุจิไม่พอ ทำให้อสุจิไม่แข็งแรง และเซ็กซ์เสื่อมได้

ในคนที่มีอาการคล้ายจะเป็นหวัด เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง อย่าเพิ่ง กินยา ให้ดื่มน้ำมาก ๆ สักพักจะหายได้ โดยไม่ต้องพึ่งยา ที่เป็นเคล็ดสำหรับคนดื่มเหล้า คือ ถ้ากลัวว่า จะแฮงก์ควรดื่มน้ำตามเข้าไปประมาณ 4 เท่าของเหล้าที่ดื่มก็จะช่วยได้ แต่ละวันเราควรดื่มน้ำมากน้อยแค่ ไหน ? นพ.กฤษดา บอกว่า ควรดื่มน้ำตามน้ำหนักตัว คือ ดื่มน้ำ 1 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ถ้าน้ำหนักตัว 60 กก.ก็ต้องดื่มน้ำ 60 ออนซ์ โดยน้ำ 1 ออนซ์ก็ประมาณ 30 ซีซี คนน้ำหนัก 60 กก. ก็ต้องดื่มน้ำประมาณ 1,800 ซีซี.