|
ทำไมคาทอลิกจึงนับถือนักบุญ
?
นับตั้งแต่ได้รับศีลล้างบาปเข้าเป็นสาชิกภาพของพระศาสนจักรคาทอลิก
ทุกคนจะได้รับชื่อของนักบุญ เป็นชื่อนำหน้าชื่อจริงของตนเองเสมอ ตัวอย่างเช่น ยอแซฟ สมศักดิ์ รักชาติ, เทเรซา สมศรี งานดี เป็นต้น นอกจากนั้น "นักบุญ" สำหรับชาวคาทอลิกยังเป็นอะไรต่อมิอะไรที่มีความหมาย มีบทบาทและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตด้านศาสนาของชาวคาทอลิกมาช้านานแล้ว
นักบุญคือใคร
ทำไมคาทอลิกจึงเคารพนับถือ
คำถามเหล่านี้คิดว่ายังคงมีอยู่ในใจใครบางคน วันนี้เว็บไซด์ของเราจึงอยากนำเรื่องราวต่างๆ อันเกี่ยวกับนักบุญมาเสนอเป็นพิเศษแด่ท่านผู้อ่านด้วยหวังว่าจะให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนักบุญเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างน้อยเมื่ออ่านจบ ก็คงจะได้รู้ว่า "นักบุญคือใคร
ทำไมคาทอลิกจึงนับถือนักบุญ
"
นักบุญคือใคร "นักบุญ" คำๆ นี้
ฟังดูแล้วหลายคนอาจจะนึกไปถึงยอดมนุษย์ หรือซุปเปอร์แมนที่สามารถทำอภินิหารเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะ "นักบุญ" ก็คือคนธรรมดาสามัญที่เกิดมาบนโลกบูดๆ เบี้ยวๆ อย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ แต่เนื่องจากว่าระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ท่านได้ดำเนินชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อในพระศาสนาอย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ เพราะรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่อง สดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่างที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่างที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้าผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดรอยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้าในสรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นักบุญ" เป็นอย่างไร
ในพระธรรมเก่านั้น คำว่า "นักบุญ" หมายถึงบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือกสรรที่จะประทานความศักดิ์สิทธิ์ให้ พอมาในสมัยพระธรรมใหม่ "นักบุญ" หมายถึงคริสตชนทุก ๆ คน
(เพราะเชื่อว่าพระคริสตเจ้าได้เกิดมาเพื่อช่วยให้มนุษย์ได้กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์)
ต่อมาใน 6 ศตวรรษแรก ๆ ของพระศาสนจักรนั้น คำ ๆ นี้ กลับกลายเป็นตำแหน่งอย่างหนึ่ง สำหรับเรียกผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่า ในสมัยนั้นคริสตศาสนายังถูกเบียดเบียนและข่มเหงอยู่มาก บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคนได้ถูกจับไปประหารชีวิต เพราะเป็นคริสตชน หรือไม่ยอมทิ้งศาสนา บางคนถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น ถูกต้มในกะทะน้ำมันเดือด ๆ หรือถูกปล่อยให้สิงโตกินในสนามกีฬากลางแจ้งของชาวโรมันที่เรียกว่า "โคลีเซียม" และอีกมากมายหลายวิธีมาก ในสมัยนั้น เมื่อมีคนใดคนหนึ่งตายเพื่อยืนยันความเชื่อแล้ว พวกคริสตชนจะพยายามเก็บศพนั้นไว้อย่างดี บางทีก็ต้องนำไปฝังในที่ลับ เช่น กาตากอม หรืออุโมงค์ใต้ดิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนที่กำลัง เบียดเบียนมาทำลายหรือลบหลู่ดูหมิ่นนั่นเอง ต่อมาเมื่อคริสตศาสนาได้รับการยอมรับ และกลาย เป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนาก็มีจำนวนลดน้อยถอยตามไปด้วย จึงมีคนคิดว่าการเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่ชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่และดำเนินไปตามพระบัญญัติด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญได้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมาการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่น ๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์
ยึดมั่นในพระธรรมคำสอนและปฏิบัติคุณงามความดีอย่างเคร่งครัดและซื่อสัตย์เพราะเห็นแก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ซึ่งก็มีมากมายหลายคน
และแต่ละคนต่างก็มีความดีความเด่นแตกต่างกันไป บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ในพระสัจธรรมหรือเป็นนักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "ธรรมสักขี" (Confessors)
วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญเป็นมาอย่างไร ตามที่กล่าวมาแล้วว่า
เมื่อมีการขยายการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จากบุคคลที่พลีชีพเพื่อศาสนาอย่างเดียว มาเป็นบุคคลที่ปฏิบัติคุณงามความดีตามพระธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัดนั้น ก็ได้ทำให้ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย
โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 6-10 ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนเกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญวิธีที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคนที่เคารพนับถือและศรัทธา
จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพและได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือหรือการโจษจันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ ๆ
ดังนั้นทางพระศาสนจักรจึงได้คิดว่าน่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่ายได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างแท้จริง จึงได้กฎเกณฑ์และระเบียบการแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญขึ้น
ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆโดยในระยะแรก ๆ นั้นการจะอนุมัติให้เคารพคนนั้นคนนี้ในฐานะที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราชหรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
วิวัฒนาการของการดำเนินการประกาศแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญนับวันก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1642 สมเด็จพระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8
จึงได้ออกสมณกฤษฎีกาว่าด้วยกฎเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ชื่อว่า "Decreta servanda in canonizatione et beatificatione sanctorum" ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10
ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ.1930 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวงว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจากสมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1969
ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับคำร้องและพิธีการดำเนินการประกาศแต่งตั้งนักบุญทั่วพระศาสนจักรสากลโดยตรงนั่นเอง
ขั้นตอนการแต่งตั้งเป็นนักบุญเขาทำกันอย่างไร
ขั้นตอนการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญนั้นละเอียดซับซ้อน ต้องกระทำอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเพราะจะผิดพลาดไม่ได้ ฉะนั้นอาจจะต้องเสียเวลาหลายปี
และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการสืบสวนประวัติบุคคลต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการประกาศแต่งตั้งแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้คือ 1.ขั้น "บุญราศี" (Beatification) 2.ขั้น "นักบุญ" (Canonization)
1.ขั้น "บุญราศี" (Beatification) เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ประชาชนยอมรับว่าเป็นคริสตชนตัวอย่างได้สิ้นชีวิตลง
แล้วก็ปรากฏว่ามีผู้ได้รับผลจากการสวดวิงวอนขอความช่วยเหลือจากท่านพระสังฆราชท้องถิ่นนั้นเอง ก็จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประวัติของผู้ตายและอัศจรรย์ต่างๆ ที่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ
ทั้งนี้เพื่อจะได้มีข้อมูลที่แน่นอนและเป็นหลักฐานชัดเจน จากนั้นจึงรวบรวมเรื่องส่งไปยังสมณกระทรวงว่าด้วยการสถาปนานักบุญที่โรม เพื่อให้ดำเนินการขึ้นต่อไป
เมื่อสมณกระทรวงได้รับเรื่องมาแล้ว ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวซึ่งครอบคลุมทั้งชีวประวัติของบุคคลดังกล่าวอย่างละเอียด แม้กระทั่งการตรวจสอบข้อเขียนหรือบันทึกต่างๆ
เพื่อเสาะหาความถูกต้องเกี่ยวกับความคิดความเชื่อและการปฏิบัติตัวของเขาว่าเคยหันเหไปจากความเชื่อเที่ยงแท้หรือไม่ โดยจะมีการตั้งทนายขึ้นมา 2 ฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายค้าน
(ทนายปีศาจ) ทนายฝ่ายสนับสนุน จะมีหน้าที่หาข้อมูลมาป้อน มาตอบข้อข้องใจ เพื่อสนับสนุนให้มีการประกาศแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นบุญราศี หรือนักบุญ ส่วนทนายฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ขุดคุ้ยค้นหาข้อบกพร่องต่างๆ
มาคัดค้านมิให้บุคคลผู้นั้นได้รับการประกาศแต่งตั้ง เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าพอใจแล้ว จึงเสนอเรื่องราวให้สมเด็จพระสันตะปาปารับทราบและอนุญาตให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งเรียกว่า "Apostolic
Process" โดยทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสมณกระทรวง ว่าด้วยการสถาปนาบุญราศีและนักบุญ จากนั้นก็จะเป็นการกลั่นกรองข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
โดยคราวนี้จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ของทางการออกไปตรวจสอบสถานที่ เพื่อสอบสวนเรื่องราวทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เมื่อทุกอย่างได้รับการตรวจสอบว่าเป็นความจริงแล้วก็จะมีการประกาศว่า หลักฐานทั้งหมดเป็นความจริง "Decree
on the Validity of the Process" เมื่อได้ประกาศว่าหลักฐานทั้งหมดเป็นความจริงแล้ว ขึ้นต่อไปก็คือการพิสูจน์ว่าชีวิตของบุคคลที่จะได้รับการสถาปนานั้น
เป็นชีวิตคริสตชนขั้นวีรชนจริงๆ คือดำเนินไปและจบลงด้วยการปฏิบัติความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง มิใช่เพราะสาเหตุอื่นใด โดยจะมีการค้นหาเหตุผลมาสนับสนุน และการหาเหตุผลมาคัดค้านหักล้างกันอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อทุกอย่างดำเนินไปจนทุกฝ่ายพอใจแล้ว ก็จะมีการประกาศว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคริสตชนตัวอย่าง ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง หรือที่เราเรียกว่า "คารวียะ" (Venerable)
ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะต้องกระทำก่อนการประกาศเป็นบุญราศีหรือนักบุญ เมื่อได้รับการประกาศว่าเป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพยกย่องหรือ "คารวียะ"
แล้วขึ้นตอนต่อไปก็คือการประกาศเป็น "บุญราศี" แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นบุญราศีนั้น พระศาสนจักรได้ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่ามีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ
"คารวียะ" ซึ่งในการพิจารณารับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น พระศาสนจักรก็จะพยายามทุกวิถีทางในการตรวจสอบว่าได้เกิดอัศจรรย์ขึ้น และอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ต้องเกิดโดยการวิงวอนของบุคคลที่เป็น
"คารวียะ" นั้นจริงๆ (ในกรณีของมรณสักขีหรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขาก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้) พร้อมกันนั้นในขั้นนี้ก็จะมีการตรวจศพหรือพระธาตุ
(เศษร่างกาย) ของผู้ตายด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นธรรมเนียม และเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลผู้นั้นจริงๆ หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว
ก็จะนำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อทรงรับรองอีกครั้ง และกำหนดวันสถาปนาคารวียะดังกล่าวขึ้นเป็น "บุญราศี" ซึ่งหมายความว่าต่อไปคริสตชนทุกคนสามารถแสดงความเคารพนับถือ และแสดงความศรัทธาในตัวท่านได้
แต่ความเคารพและพิธีกรรมต่างๆ นั้นก็ยังคงจำกัดอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ หรือประเทศนั้นๆ ยังมิได้ขยายออกไปทั่วพระศาสนจักรสากล (ตัวอย่าง บุญราศี ทั้ง 7 ของประเทศไทย) 2.ขั้น
"นักบุญ" (Canonization) หลังจากได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว ขึ้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการเพื่อประกาศแต่งตั้งเป็น "นักบุญ" แต่ว่าก่อนที่จะเป็นนักบุญ
พระศาสนจักรก็ได้กำหนดว่าจะต้องมีผู้ได้รับอัศจรรยืโดยคำวิงวอนของท่านบุญราศีผู้นั้นอีกอย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งการรอคอยอัศจรรย์ขั้นนี้อาจจะยาวนานหลายปี บางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี
จากนั้นก็จะมีการพิจารณาตรวจสอบศพอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะดูว่าเป็นบุคคลนั้นจริงหรือไม่ และมีบางรายได้รับพรพิเศษให้ศพไม่เน่าเปื่อยตามกาลเวลาเกี่ยวกับเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้
ส่วนมามักจะเป็นเรื่องของการหายจากโรคที่สุดวิสัยความสามารถมนุษย์จะรักษา แต่การหายป่วยจากโรคอย่างอัศจรรย์นี้ก็จะได้รับการตรวจสอบและยืนยันโดยแพทย์ หรือนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการอัศจรรย์จริงๆ
เมื่อผ่านขึ้นตอนทุกอย่างแล้วก็จะมีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้นขึ้นมาเป็น "นักบุญ" โดยสมเด็จพระสันตะปาปา
พิธีการประกาศแต่งตั้งจะมีขึ้นอย่างมโหฬารที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรมเป็นพิธีที่สง่างามน่าประทับใจที่สุดพิธีหนึ่งที่ทางพระศาสนจักรจัดขึ้น เพราะการประกาศสถาปนาบุคคลใด บุคคลหนึ่งเป็นนักบุญ
ย่อมหมายถึงเกียรติขึ้นสูงสุดที่คริสตชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยท่านผู้นั้นจะได้รับการประกาศชนิดที่พระศาสนจักรใช้เอกสิทธิ์ความไม่รู้ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตะปาปามาเป็นหลักประกันความจริง
ท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวคาทอลิกทั่วโลกและชื่อของท่านผู้นั้นก็จะได้รับการบันทึกเข้าไว้ในบัญชีสารบบนักบุญตลอดไปชั่วกาลนาน
นี่แหละคือลำดับขั้นตอนที่พระศาสนจักรได้ใช้ในการประกาศสดุดีคุณงามความดีขั้นวีรกรรมของบรรดาสมาชิกของพระศาสนจักรซึ่งทุกยุคทุกสมัยก็จะมีพี่น้องของเราได้รับเกียรตินี้ เพื่อมอบเป็นแบบอย่างแก่เราอยู่เสมอๆ
และพระศาสนจักรก็พยายามสอนลูกๆ ของตนเสมอว่า ให้พยายามเลียนแบบความสมบูรณ์ทางคุณธรรมของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นในการเจริญรอยตามพระคริสตเจ้า
ทั้งนี้เพราะผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญเหล่านั้นต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เคยมีชีวิตจริงๆ บนโลกใบนี้ ดังนั้นแบบอย่างชีวิตของท่านจึงเป็นสิ่งที่ดี ที่ใกล้ตัว ที่เราสามารถเห็นได้และเลียนแบบได้
เพื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เข้าสู่สวรรค์ มีชีวิตนิรันดรร่วมกับพระคริสตเจ้า และท่านเหล่านั้นด้วย และนี่แหละคือเหตุผลว่า
ทำไม..คาทอลิกจึงนับถือนักบุญ
(เอกสารอ้างอิง : ป.พงษ์วิรัชไชย "ประวัติและขึ้นตอน การดำเนินการแต่งตั้ง บุญราศีและนักบุญ" (บทความ) , อุดมศานต์ ปีที่ 69 ตุลาคม 2532/ มนัส จวบสมัย,
สารานุกรมศาสนาคริสต์คาทอลิกฉบับย่อ ; 20 ตุลาคม 2526)
|