บุคลากร บริการLinks

อย่าตายก่อนเสียชีวิต

เพิ่งได้รับเกียรติ-รับบัตรวีไอพีไปดูคอนเสิร์ต "เอกศิลปินน้อมใจถวายพระพรชัย" เนื่องในงานเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
เป็นการแสดงของวง "บางกอก ซิมโฟนี ออเคสตรา" ของไทย
ชมมืออันพลิ้วไหวของนักเปียโนระดับโลกอย่าง Denis Matsuev ฝีมือระดับแชมป์ Tchaikovsky Competition ครั้งที่ 11 ที่มอสโก
แถมยังได้ฟังคลาริเน็ตจากการเป่าของ Michael Collins*******

การแสดงใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครับ แต่ความประทับใจมันสุดสุดไปเลย
เพราะการบรรเลงเพลงของมือระดับโลกทั้ง 2 คน สามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านบทเพลงที่ตัวบรรเลงออกมาให้เราได้รู้สึกสนุก เศร้า และซาบซึ้ง
 

เสียงคลาริเน็ตที่ Michael Collins เป่า จึงหวานเสนาะหู แตกต่างจากคลาริเน็ตที่เรา-ท่านเอามาเป่ากันเล่น
เช่นเดียวกับเสียงเปียโนที่บรรเลงโดย Denis Matsuev สามารถตรึงผู้ชมทั้งหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมให้หยุดนิ่ง เสียงปรบมือจากผู้ฟังในวันนั้น ไม่ใช่การปรบมือตามมารยาท แต่หากเป็นการปรบมือด้วยความชื่นชมในผลงานการนำเสนอของนักดนตรีชื่อก้องโลก

พวกเขาสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณและอารมณ์ผ่านเครื่องดนตรีจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกเคลิ้ม
คงเหมือนกับนักจิตรกรระดับโลกอย่าง ดาวินชี โมเน่ ปิกัสโซ่ หรือใครอื่นๆ ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาพวาด

คงเหมือนกับนักประพันธ์นวนิยายชื่อดังที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกผ่านตัวอักษร จนทำให้เรื่องราวที่เขียนมีชีวิตและความรู้สึกและก็คงจะเหมือนกับผลงานของพวกเราที่ทำงานกันในหลายหลากอาชีพผลงานชิ้นไหนที่เรามีสมาธิกับมัน ตั้งใจที่จะทำมัน สามารถใส่จิตวิญญาณ อารมณ์และความรู้สึกเข้าไปในชิ้นงานนั้นได้

ผลงานที่ปรากฏออกมาก็มักจะอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก
แตกต่างจากผลงานที่เราทำแบบให้ผ่านๆ ไปแบบไร้จิตวิญญาณ ไร้อารมณ์
ผลิตผลที่ออกมาจึงดูแย่ ไร้พลังการสร้างสรรค์

ดังนั้น ผลงานของเราจะดีหรือแย่มันขึ้นกับความสามารถของเราว่าจะใส่ชีวิตและลมหายใจเข้าไปให้มันได้หรือไม่นี่แสดงว่าจิตวิญญาณอารมณ์และความรู้สึกไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะงานทางศิลปะอย่างภาพวาดหรือดนตรีเท่านั้น

หากแต่จิตวิญญาณ อารมณ์ และความรู้สึก มีความสำคัญกับผลงานทุกชิ้นที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์บนโลกใบนี้
ก็ในเมื่อมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ชอบประดิษฐ์นั่น ประดิษฐ์นี่
แม้สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์จะไม่มีชีวิต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่ประดิษฐ์ มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ

คุณค่าของงานจึงขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในชิ้นงานที่นำเสนอ
สถาปัตยกรรมแบบโรมันให้อารมณ์ความรู้สึกของความยิ่งใหญ่
พระพุทธรูปแต่ละปางแต่ละยุคให้อารมณ์ที่แตกต่าง
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยให้ความรู้สึกสวยงาม อ่อนช้อย ร่มเย็น พระพุทธรูปสมัยอยุธยาให้ความรู้สึกอุดมสมบูรณ์
บังเอิญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ประชุมสรุปงานปีเก่า พร้อมให้งานสำหรับปีหน้า
ในช่วงท้าย บรรณาธิการอาวุโสอันเป็นที่รักได้ขึ้นให้โอวาท

มีคำๆ หนึ่งที่โดนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนฟัง จนอดไม่ได้ที่จะนำคำๆ นั้นมาขยายความ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปใช้
คำๆ นั้นคือ "อย่าให้เราตายไปก่อนจะเสียชีวิต"

คมจริงๆ ผับผ่า!

คำๆ นี้ถือเป็นเคล็ดลับในการทำงานที่ดีทีเดียว
ก็ในเมื่อผลงานที่ดีต้องเกิดจากความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่ ความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดเอาจิตวิญญาณของเราเข้าไปในเนื้องาน เพื่อให้ผลงานที่ปรากฏออกมาสมบูรณ์แบบ

หากปรากฏว่า เรา "ตายไปก่อนที่จะเสียชีวิต" คือมีแต่ลมหายใจ แต่ไร้จิตวิญญาณ ไร้อุดมการณ์ ไร้ความมุ่งมั่น ปราศจากความคิดสร้างสรรค์ ไปทำงานแล้วกลับบ้านแบบหมดอาลัยตายอยาก
แล้วเราจะผลิตผลงานที่ดีออกมาได้อย่างไร?

ดังนั้น ปีใหม่ ปลุกขวัญกำลังใจ กระตุ้นจิตวิญญาณของตัวเองให้ลุกโชน แล้วนำไฟแห่งความสร้างสรรค์ ค่อยๆ บรรจงทำงานด้วยหัวใจ ถ่ายทอดจิตวิญญาณลงไปในชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย

แม้ผลงานที่ปรากฏออกมาจะไม่ดีเลิศระดับโลก แต่เชื่อเถอะว่างานที่เราทำจะมีคุณค่ามากขึ้น เพราะจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในชิ้นงานจะผลักดันให้ผลงานนั้นมีคุณค่า
อย่างน้อยที่สุดก็มีคุณค่ามากกว่าผลงานของคนที่ "ตายไปก่อนจะเสียชีวิต"

มีคุณค่ามากกว่าผลงานอันจืดชืด ไร้อารมณ์และความรู้สึก ที่เราพบเห็นอยู่ดาษดื่นในสังคมปัจจุบัน
--------------
ที่มา:มติชน
http://matichon.co.th/matichon/matic...sectionid=0140