บุคลากร บริการLinks


ประเภท............ .                                                                        เจ้าของเรื่อง.......               นิรนาม

ในศตวรรษที่ 15   ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใกล้เมือง Nuremberg มีครอบครัวหนึ่ง มีลูก 18 คน เพื่อเลี้ยงดูลูกๆถึง 18 คน   พ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอาชีพเป็นช่างเหล็ก ต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงรับงานจิปาถะสารพัด นี่คือครอบครัว Durer   แม้ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังเช่นนี้  พี่น้องสองคน คือ
Albrecht และ Albert ก็ยังมีความฝันที่จะเป็นจิตรกรตามความรู้สึกถึงพรสวรรค์ที่ตนเองมีอยู่  ทั้งๆที่รู้ดีว่า พ่อไม่สามารถหาเงินส่งตนสองคนไปเรียนที่สถาบันในเมือง Nuremberg ได้

หลังจากที่ทั้งสองคุยกันอยู่นานว่าจะทำอย่างไร ที่สุดก็ตกลงกันว่าจะโยนเหรียญเสี่ยงทายหัวก้อยกัน ใครแพ้จะต้องไปทำงานในเหมืองหาเงินเพื่อส่งอีกคนหนึ่งไปเรียน และเมื่อผู้ชนะเรียนจบในเวลา 4 ปีแล้ว ก็จะต้องหาเงินส่งอีกคนหนึ่งไปเรียนเป็นการตอบแทน   ไม่ว่าจะด้วยการขายผลงานจิตรกรรมของตน  หรือแม้จะต้องไปทำงานในเหมืองก็ตาม

พวกเขาโยนเหรียญเสี่ยงทายหัวก้อยกัน ในเช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งหลังจากกลับจากโบสถ์แล้ว  
Albrecht ชนะ  และเดินทางไปเรียนที่สถาบันในเมือง Nuremberg ส่วน Albert ไปทำงานหนักในเหมือง เพื่อหาเงินส่งให้ Albrecht ได้เรียน            Albrecht เรียนด้วยหัวใจที่สำนึกถึงความยากลำบากของ Albert จึงทุ่มเทสุดหัวใจ  จนกระทั่งว่า เขากลายเป็นผู้ที่ก้าวหน้าที่สุดในชั้น และเมื่อเขาเรียนจบแล้ว   เขายังสามารถมีรายได้จากผลงานของเขาด้วย

เมื่อจิตรกรหนุ่ม Albrecht กลับมายังหมู่บ้าน  ครอบครัว
Durer จัดงานเลี้ยงฉลอง  ท่ามกลางเสียงดนตรีและเสียงหัวเราะครื้นเครง   ในตอนท้าย Albrecht ยืนขึ้นจากที่นั่งหัวโต๊ะที่ทุกคนให้เกียรติเขา เขาเชื้อเชิญทุกคนให้ดื่มสำหรับการเสียสละของ Albert หลายปีที่ผ่านมา จนทำให้เขาบรรลุความใฝ่ฝัน เขาสรุปด้วยคำพูดที่ว่า “Albert น้องชายที่ประเสริฐของฉัน     บัดนี้ เป็นคราวของเธอแล้ว ที่จะไปติดตามความฝันที่ Nuremberg   ฉันจะดูแลเธอเอง”

ทุกคนต่างหันหน้าไปทาง Albert ซึ่งนั่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง  หน้าซีด และมีน้ำตานองหน้า  เขาก้มและส่ายศีรษะ พร้อมกับร่ำไห้สะอึกสะอื้น  พูดซ้ำไปซ้ำมาว่า  “ไม่แล้ว ไม่แล้ว ไม่แล้ว”

ที่สุด Albert ลุกขึ้น เช็ดน้ำตา มองดูทุกคนที่เขารัก  แล้วยกมือขึ้นมาแนบแก้มของเขา พูดอย่างนุ่มนวลว่า  “ไม่แล้ว พี่  ฉันไม่สามารถไป Nuremberg ได้แล้ว มันสายเกินไปสำหรับฉัน  ดูสิ  ดูว่าสี่ปีในเหมืองทำอะไรกับมือของฉันบ้าง กระดูกนิ้วมือทุกนิ้วแตก  และตอนนี้มือขวายังเจ็บปวดกับโรคข้อต่ออักเสบจนไม่อาจยกแก้วดื่มให้พี่ได้เลย ประสาอะไรจะไปจับปากกาและพู่กันที่ต้องการความละเอียดได้   ไม่แล้วล่ะพี่   สำหรับฉัน มันสายเกินไป”

บัดนี้ มากกว่า 450 ปีผ่านไป มีผลงานศิลปะมากมายของ
Albrecht Durer แขวนอยู่ในพิพิภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ต่างๆของโลก แต่สิ่งที่แปลกก็คือ เราคุ้นตากับผลงานเพียงชิ้นเดียวของเขา บางทีมากกว่าคุ้นตาด้วยซ้ำ คุณเองก็อาจจะมีรูปนี้แขวนอยู่ที่บ้านหรือที่สำนักงานก็ได้

วันหนึ่ง เพื่อให้เกียรติแก่ Albert สำหรับความเสียสละ
Albrecht Durer ได้วาดภาพหนึ่งด้วยความทุกข์ใจ คือภาพมือที่ใช้การไม่ได้ของน้องชาย ประนมเข้าหากัน และนิ้วมือเรียวๆเหยียดตรงขึ้นหาฟ้า   เขาตั้งชื่อภาพวาดที่เปี่ยมด้วยพลังภาพนี้ว่า “มือ”        แต่ทั่วทั้งโลกเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทันทีและพร้อมใจกันตั้งชื่อให้อนุสรณ์แห่งรักนี้ใหม่ว่า “ประนมมือภาวนา”