“แม่พระแห่งลูกประคำ” นามนี้ มีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีใครทราบแน่ชัด                นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า อาจกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 8 ก็ได้ เวลานั้นมีการสวดบท “ข้าแต่พระบิดา” ซ้ำไปซ้ำมา โดยใช้รูปประคำนับจำนวนให้ครบ 150 บท ตามจำนวนบทสดุดีในพระคัมภีร์อยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ไม่รู้หนังสือเวลานั้น ซึ่งไม่สามารถสวดบทสดุดีได้ ก็ใช้การสวดบทข้าแต่พระบิดาแทน แล้วต่อมา จึงมีผู้นำเอาบทสดุดีแม่พระ หรือบทวันทามารีอาท่อนแรกมาใช้แทนบท “ข้าแต่พระบิดา” เป็นอันว่า การใช้ลูกประคำเป็นเครื่องมือในการสวด มีมาแต่นานแล้ว

แต่นาม “แม่พระลูกประคำ” เรามักเชื่อมความเกี่ยวโยงกับการประจักษ์ของแม่พระต่อนักบุญดอมินิโกในปี 1208 ณ วัดแห่ง Prouill เวลานั้น นักบุญดอมินิโก กำลังต่อสู้กับอิทธิพลอันใหญ่หลวงของลัทธิเฮเรติก ที่เรียกว่า Albigensian ท่านรู้สึกถึงความท้อแท้ เพราะการทำงานของท่านไร้ผล แม่พระประจักษ์มาและทรงสอนท่านว่า “อย่าแปลกใจเลย ที่การทำงานของลูกไร้ผล ลูกกำลังทำงานบนผืนดินที่แห้งแล้ง โดยไม่รดน้ำด้วยพระหรรษทาน เมื่อพระเจ้าทรงประสงค์จะเนรมิตแผ่นดินขึ้นใหม่นั้น พระองค์เริ่มด้วยการส่งฝนแห่งความเจริญงอกงาม นั่นคือ การแจ้งสารของเทวทูต (ทำทักทายว่า “วันทามารีอา...” ) ฉะนั้นลูกจึงเผยแพร่การสวดคำทักทายของเทวทูตนี้ 150 ครั้ง และบทข้าแต่พระบิดา 15 ครั้ง แล้วลูกจะเก็บเกี่ยวได้อย่างอุดมสมบูรณ์”

นักบุญดอมินิโก เริ่มต้นเผยแพร่ความศรัทธาต่อการสวดลูกประคำ ที่สุด ท่านได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสวดลูกประคำ อาจจะถือได้ว่าท่านนักบุญดอมินิโกเป็นผู้บุกเบิก จากชัยชนะที่ท่านได้รับเหนือพวกเฮเรติก แต่กระนั้น การสวดลูกประคำก็ยังไม่ถึงกับแพร่หลายมากนัก

จนกระทั่งในสมัยของ Alan de Rupe (1428-1475) ซึ่งได้ฉายาว่า อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่แห่งลูกประคำ” เป็นผู้จุดประกายให้เห็นความเกี่ยวข้องของนักบุญดอมินิโกและลูกประคำ และได้เผยแพร่การสวดลูกประคำ จนเป็นที่นิยมไปทั่วทุกแห่งหน

ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม 1571 สมาชิกแห่งแนวร่วมในการสวดสายประคำร่วมชุมนุมสวดสายประคำ เพื่อขอพรสำหรับกองทัพคริสตัง ที่กำลังสู้รบกับพวกเติร์กมุสลิมที่เมือ Lepanto พระสันตะปาปา ปีโอที่ 5 ทรงร่วมสวดด้วย และที่สุด กองทัพคริสตังได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งช่วยให้ยุโรปรอดพ้นจากการยึดครองของมุสลิม พระสันตะปาปา ปีโอ 5 จึงกำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม 1571 เป็นวันรำลึกถึงแม่พระลูกประคำประจำปีตั้งแต่นั้นมา

จากเรื่องราวคร่าวๆ ทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่า เมื่อกล่าวถึงแม่พระแห่งลูกประคำ เราจึงมักคิดถึงเหตุการณ์ที่แม่พระประจักษ์มาให้แก่ท่านนักบุญดอมินิโก และสอนให้ท่านเผยแพร่การสวดลูกประคำ จิตรกรจึงมักวาดรูปแม่พระแห่งลูกประคำ เป็นรูปแม่พระอุ้มพระกุมารและมอบสายประคำให้แก่นักบุญดอมินิโกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความศรัทธาที่คริสตชนมีต่อนักบุญคาทารีนาแห่งซีเอนา (1347-1379) ซึ่งเป็นสมาชิกชั้นที่ 3 ของคณะดอมินิกัน ซึ่งแน่นอนว่า ลูกประคำและคณะดอมินิกันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน้นแฟ้น นักบุญคาทารีนาแห่งซีเอนา ซึ่งเป็นนักบุญที่ยิ่งใหญ่ของคณะดอมินิกันก็ว่าได้ ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ และสามารถช่วยให้พระสันตะปาปากลับมาอยู่กรุงโรมได้อีกครั้ง ในสมัยนั้นที่พระสันตะปาปาต้องจากกรุงโรมไปอยู่ที่ Avignon ฝรั่งเศส ชาวอิตาเลียนยังถือว่า นักบุญคาทารีนาเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศอิตาลี คู่กับนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อจิตรกรวาดภาพแม่พระลูกประคำ จึงมักมีรูปของนักบุญคาทารีนาแห่งซีเอนา อยู่คู่กับนักบุญดอมินิโกด้วยนั่นเอง

ส่วนรูปแม่พระอุ้มพระกุมาร กำลังประทานสายประคำแก่นักบุญทั้งสองนี้ เกิดขึ้นมาเมื่อไรแน่ หรือมีซื่อเรียกรูปนี้ว่าอะไร ไม่มีบันทึกแน่ชัด คงย่อมมีอยู่แต่นานแล้ว แต่รูปที่มีรายละเอียดองค์ประกอบเช่นนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และได้รับนามว่า “แม่พระแห่งลูกประคำ” ก็ในปลายศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มต้นที่เมือง Campania ในหุบเขาแห่งปอมเปอี รูปนี้จึงได้รับชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “แม่พระแห่งปอมเปอี” ซึ่งปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในสักการะสถานที่สวยงาม และยกถวายแด่แม่พระแห่งลูกประคำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพ่อจะเล่าถึงความเป็นมาของรูปนี้ต่อไป

ที่น่าสังเกตุก็คือ “รูปแม่พระแห่งปอมเปอี” นี้ เป็นรูปแม่พระอุ้มพระกุมารด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายของแม่พระยื่นสายประคำ ให้แก่นักบุญคาทารีนา ขณะที่พระกุมารเองหันพระพักตร์ไปยังนักบุญดอมินิโก และใช้พระหัตถ์ส่งสายประคำให้นักบุญดอมินิโก ส่วนรูปแม่พระองค์ใหญ่ เหนือพระแท่นในวัดของเรา ซึ่งเป็นรูปปั้น ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัด เป็นรูปแม่พระอุ้มพระกุมารด้วยพระหัตถ์ซ้าย แล้วใช้พระหัตถ์ขวาส่งสายประคำให้นักบุญดอมินิโก ขณะที่พระกุมารหันพระพักตร์ไปยังนักบุญคาทารีนา และส่งสายประคำให้นักบุญคาทารีนา นั่นคือ สลับกันนั่นเอง แต่จะอย่างไรก็ตาม พ่อเชื่อว่า รูปแม่พระองค์อุปถัมภ์วัดของเรานี้ ย่อมได้รับอิทธิพลความศรัทธาจากแม่พระแห่งปอมเปอีนี้เอง

ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับเราเหมือนกัน ที่จะรู้จักความเป็นมาของรูปแม่พระแห่งปอมเปอีนี้สักหน่อย

ประวัติศาสตร์ในปี 1891 บันทึกว่า “วัดนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน เล็กและทรุดโทรม ยากจน จนไม่อาจมีโรงเรียน ชาวบ้านก็เป็นพวกนอกรีต และนอกกฎหมาย หลายคนเป็นขโมย”

Bartolo Longo ผู้ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของ Valle di Pompei เป็นผู้ก่อตั้งสักการะสถานแม่พระลูกประคำ เกิดในปี 1841 เป็นลูกชายนายแพทย์ ท่านเรียนกฎหมาย ระหว่างที่เรียน ได้เข้าร่วมกับนิกายนอกรีตนิกายหนึ่ง จนได้บวชเป็นสงฆ์แห่งซาตาน เวลานั้น ท่านพยายามอย่างที่สุดที่จะทำลายอิทธิพลของคาทอลิก

ที่สุด เพื่อนที่ดีคนหนึ่ง แนะนำท่านให้รู้จักกับพระสงฆ์ดอมินิกันคนหนึ่งชื่อ Alberto Radente ซึ่งศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระ และส่งเสริมความศรัทธาต่อลูกประคำ

เมื่อ Bartolo กลับใจล้างบาป ท่านได้เลือกชื่อล้างบาปว่า Maria เพราะท่านสำนึกว่า ท่านเป็นคนบาป และแม่พระคือ “ที่หลบภัยของคนบาป” และเพื่อใช้โทษบาปในอดีต ท่านสัญญาที่จะทำงานเพื่อคนยากจน และท่านยังได้พิมพ์สารที่เรียกว่า “The Rosary of New Pompei” อีกด้วย

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ท่านอยู่ใกล้วัดที่ทรุดโทรม มีหนูและสัตว์เลื้อยคลานวิ่งเพ่นพ่านอยู่ ท่านพบกับประสบการณ์ที่ลึกลับ ท่านเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้ามีความรู้สึกถึงความสิ้นหวัง และเกือบจะฆ่าตัวตาย ทันใดนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงสะท้อนในหู เป็นเสียงของคุณพ่อ Alberto ที่ย้ำคำพูดของแม่พระว่า “ถ้าลูกต้องการแสวงหาความรอด จงเผยแพร่การสวดลูกประคำ แม่สัญญา” คำพูดนี้ ส่องสว่างวิญญาณของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคุกเข่าลง และพูดว่า “หากเป็นจริงแล้ว ลูกจะไม่ไปจากหุบเขานี้ จนกว่าการเผยแพร่สวดลูกประคำจะสำเร็จ”

Bartolo ชักชวนชาวบ้านให้มาช่วยกันทำความสะอาดวัดแห่งนี้ แล้วก็ชวนให้มาสวดลูกประคำด้วยกันในเย็นวันหนึ่ง มีเด็กไม่กี่คนเท่านั้นที่มา

Bartolo จึงออกเยี่ยมทุกบ้าน แจกสายประคำลูก รูปพระ และเชิญชวน แต่ก็ได้ผลไม่มากนัก ชาวบ้านถึงแม้จะรักและเคารพ Bartolo แต่พวกเขาไม่เข้าใจ และไม่สนใจที่จะรู้จักกับลูกประคำ

Bartolo ออกทุนจัดงาน เทศกาลฉลองลูกประคำศักดิ์สิทธิ์ในปี 1873 ครั้งแรกล้มเหลว นอกจากฝนตกแล้ว ผู้เทศน์ก็เทศน์เป็นภาษาอิตาเลียนทางการ ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเข้าใจ  ปีต่อมา ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่บางคนก็เริ่มสวดลูกประคำเป็นแล้ว ปีที่สาม ท่านเชิญพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ มาเทศน์มิชชั่น 2 สัปดาห์ ท่านถือโอกาสบูรณะวัดใหม่

Bartolo เริ่มโครงการหารูปแม่พระแห่งลูกประคำ รูปที่ท่านมีอยู่เป็นเพียงรูปภาพสีน้ำมันบนกระดาษ ในเวลานั้น กฎหมายของพระศาสนจักรกำหนดให้ภาพศักดิ์สิทธิ์ต้องวาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ หรือบนไม้เท่านั้น มีคนบอก Bartolo ว่า มีรูปแม่พระลูกประคำ เก็บไว้ในอารามแห่งหนึ่ง ซึ่งซื้อมาร้านซอมซ่อแห่งหนึ่งในราคา 3,40 ลีร์ Bartolo เขียนอธิบายไว้ว่า

“รูปภาพนี้ไม่เพียงแต่ถูกหนอนกินเท่านั้น แต่พระพักตร์ของแม่พระ ยังเป็นเหมือนหญิงชาวบ้านที่หยาบกระด้าง... ผ้าใบส่วนหนึ่งที่อยู่เหนือศีรษะของแม่พระก็หายไป.. เสื้อคลุมก็มีรอยแตก ไม่ต้องพูดถึงความน่าเกลียดของรูปส่วนอื่นๆ นักบุญดอมินิกดูแล้วเหมือนคนมอมแมมข้างถนน ทางซ้ายมือของแม่พระคือนักบุญโรซา ต่อมาข้าพเจ้าได้เปลี่ยนภาพนี้ให้เป็นนักบุญคาทารีนาแห่งซีเอนา.. ข้าพเจ้าลังเลที่จะเอารูปนี้หรือไม่เอา ที่สุด ข้าพเจ้าเอา”

Bartolo ให้จิตรกรสมัครเล่นคนหนึ่งซ่อมแซมภาพนี้ และที่สุด ตั้งไว้ในวัดเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 1876 ต่อมาในปี 1880 จิตรกรที่มีชื่อเสียงชาวอิตาเลียนชื่อ Federico Madlarelli เสนอตัวซ่อมแซมภาพนี้อีกครั้ง ที่สุด จิตรกรจากวาติกันได้ซ่อมแซมอีกครั้งเมื่อปี 1965

 

หลังจากตั้งรูปนี้ในวัดครั้งแรก ก็มีแผนที่จะสร้างวัดใหญ่ที่เหมาะสมกับแม่พระลูกประคำ ชาวบ้าน 300 คน ช่วยอดออมเงินหนึ่งเพนนีต่อเดือนเพื่องานของแม่พระนี้ ที่สุด ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1876 ภายในเดือนนั้นเอง ก็เริ่มมีอัศจรรย์เกิดขึ้นที่สักการะสถานแห่งนี้ นั่นคือ มีบันทึกว่าคนป่วย 4 คนได้รับการรักษาให้หาย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระหว่างปี 1891 ถึง 1894 มีอัศจรรย์นับร้อยเกิดขึ้น และได้รับการบันทึกไว้ที่สักการะสถานแห่งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1883 Bartolo เรียกร้องต่อชาวบ้านว่า

“ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งถูกเลือกไว้สำหรับอัศจรรย์มากมาย เราปรารถนาที่จะทิ้งอนุสาวรีย์ ของราชินีแห่งชัยชนะไว้ให้กับชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต อนุสาวรีย์ที่คู่ควรมากขึ้นต่อความยิ่งใหญ่ของพระนาง แต่คู่ควรยิ่งกว่าต่อความเชื่อและความรักของเรา”

ในปี 1894 Bartolo และภรรยา ได้ถวายวัดหลังใหม่ให้แก่พระสันตะปาปาเป็นผู้ปกครองดูแล และในวันเปิดสักการะสถานแห่งใหม่นี้ รูปภาพก็ได้รับการประดิษฐานอย่างยิ่งใหญ่

ในปี 1965 หลังจากการบูรณะรูปภาพเป็นครั้งที่สาม พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ตรัสในระหว่างบทเทศน์ว่า “เฉกเช่นเดียวกับที่รูปภาพของพระนางมารีอาพรหมจารีนี้ได้รับการบูรณะและประดับประดา ขอให้พระฉายาของพระนางมารีอาที่เราคริสตชนต้องมีอยู่ในชีวิตของเราได้รับการบูรณะ และประดับประดาให้ใหม่และสวยงามด้วย” ในโอกาสนี้ พระสันตะปาปาได้ประดับมงกุฎบนศีรษะของพระเยซูเจ้าและพระนางมารีอา มงกุฎที่บรรดาสัตบุรุษได้ถวายนั่นเอง

 

ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างวัดเพื่อการแสวงบุญอยู่นั้น Bartolo Maria Longo ก็เริ่มทำงานมากมายด้านการกุศล ท่านและภรรยาได้สร้างบ้านสำหรับเด็กหญิงกำพร้า พวกแรก มีเด็กกำพร้าเล็กๆ 15 คน เท่ากับ 15 ทศของสายประคำ ท่านยังตั้งบ้านพักสำหรับเด็กชาย ลูกๆ ของนักโทษ และบ้านพักสำหรับเด็กหญิง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะ Daughters of the Holy Rosary of Pompei นักบวชหญิง เพื่อดูแลสักการะสถานและบ้านเพื่อการศึกษาที่ติดอยู่กับสักการะสถาน ท่านยังตั้งคณะดอมินิกันชั้นที่สามใกล้ๆ กับสักการะสถานด้วย

วันที่ 21 ตุลาคม 1979 พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่สอง เสด็จเยี่ยม Pompei .ในโอกาสแสวงบุญแห่งชาติ วันที่ 26 ตุลาคม 1980 พระสันตะปาปา จอนห์ ปอล ที่สอง ได้สถาปนาท่านเป็นบุญราศี พระองค์ทรงเรียกท่านว่า “บุรุษแห่งพระมารดา” และ “อัครสาวกแห่งลูกประคำ”