จาก general instruction of the Roman Missal กำหนดว่า ศักดิ์ศรีของพระวาจาของพระเจ้า เรียกร้องให้วัดมีสถานที่อันเหมาะสมเพื่อการประกาศพระวาจา
โดยที่หมู่คริสตชนในวัดทั้งหมดสามารถพุ่งความสนใจไปหาได้อย่างเป็นธรรมชาติในระหว่างวจนพิธีกรรม
นอกนั้น ยังกำหนดว่า แท่นพระวาจาหรือบรรณฐานนี้ควรต้องเป็นบรรณฐานที่มั่นคงถาวร มิใช่จะเป็นแบบที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนต่อไหนได้โดยง่าย
บรรณฐานยังต้องมีเพียง 1 ที่เท่านั้น ซึ่งต้องตั้งอยู่ในเขตสักการสถาน ใกล้กับพระแท่น เหมาะสมสำหรับประธานในพิธีเพื่อสื่อภาควจนพิธีกรรมให้เด่นชัด และรูปแบบศิลปะและวัสดุของบรรณฐานควรออกแบบให้สอดคล้องกับพระแท่น
ที่สำคัญคือ บรรณฐานสงวนไว้สำหรับ อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์
ขับร้องเพลงสดุดีและสร้อยตอบรับ ขับร้องการประกาศสมโภชปัสกา และยังอาจใช้เป็นที่เทศน์และอ่านเจตนาในบทภาวนาของมวลชนได้อีกด้วย ศักดิ์ศรีของบรรณฐานเรียกร้องให้มีแต่ผู้รับใช้พระวาจาเท่านั้นที่ขึ้นไปได้(ข้อ309)
ด้วยความเข้าใจต่อเจตนาของจารีตพิธีกรรมเช่นนี้ สภาอภิบาลของวัด โดยคุณสธน นิทัศนจารุกุล ผู้อำนวยการสภาฯ
จึงมีความเห็นชอบที่จะสร้างบรรณฐานของวัดใหม่ให้เหมาะสมกว่าบรรณฐานไม้รูปทรงแท่งเหลี่ยม ซึ่งมีอยู่ 2 ตัว โดยใช้สำหรับอ่านพระวาจา 1 ตัว และใช้สำหรับประธานในพิธี ในการเริ่มบทนำและลงท้ายมิสซาอีก 1 ตัว
ในการนี้ มอบหมายให้นางสาวขัตติยา เล้ากอบกุล (เอิน) เป็นผู้ออกแบบ เพื่อให้บรรณฐานใหม่นี้ทำด้วยหินอ่อน เช่นเดียวกับพระแท่นบูชา ให้ตั้งอยู่ใกล้พระแท่นบูชา และมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสง่างาม และตั้งในตำแหน่งสูงขึ้นเพื่อความเด่นชัด และได้ว่าจ้างร้าน วิษณุหินอ่อน สระบุรี เป็นผู้ดำเนินการ ให้ร้านอภิชาติ ถนนสายไม้ บางโพ เป็นผู้แกะสลักรูปสัญญลักษณ์ทั้งสี่ของผู้นิพนธ์พระวรสาร
บรรณฐานปัจจุบันนี้ ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ในวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2008 และได้รับการเสกในวันเดียวกัน
|