ความจริงบางอย่าง ฟังดูแล้วคล้ายกับมีบางสิ่งขัดแย้งอยู่ในตัวมันเอง แต่ถึงอย่างไร มันก็เป็นความจริง ถ้าเราไม่มัวแต่คิดจะแย้งหรือคัดค้านอยู่ท่าเดียว เราก็อาจจะสามารถยอมรับมันได้ และได้ประโยชน์จากความจริงนั้น

มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า “มนุษย์ทุกวันนี้ มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ทำไมเรากลับมีเวลาน้อยลง” ที่จริง เวลามีเท่าเดิมคงที่ เพียงแต่ “รู้สึก”ว่ามีน้อยลง ทั้งๆ ที่ควรรู้สึกตรงข้าม คือ มีเวลามากขึ้นเพราะไม่ต้องไปเสียเวลากับเรื่องบางอย่างที่ในอดีตอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ เพราะเดี๋ยวนี้ อะไรๆ ก็สะดวกสบายไปเสียหมด ไม่ว่าในเรื่องการเดินทาง การซักผ้า ทำอาหาร ดูแลบ้าน และอื่นๆ แต่ความจริงก็คือดูเหมือนเรามีเวลาไม่พอ ชีวิตต้องเร่งรีบ นาฬิกาก็เดินเร็วจริงๆ เผลอหน่อยเดียว วันนี้ก็ย่างเข้าเดือนที่ 3 ของปีแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งฉลองปีใหม่กันหยกๆ

คิดในแง่หนึ่ง นี่น่าจะเป็นความคิดของคนที่รู้ค่าของเวลา ไม่ยอมปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ กระตือรือร้นและพากเพียร อยากทำอะไรๆ มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนรู้สึกว่า มีเวลาไม่พอ เพราะมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนบางทีตามความคิดของตัวเองไม่ทัน แต่แล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะฉุกคิดขึ้นหรือเปล่าว่า เราทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อชีวิตแบบใดกันแน่

ในอีกแง่หนึ่ง นี่อาจเป็นเรื่องของคนที่ชอบมีความคิดฟุ้งซ่าน เลยเอาเวลาที่เหลือไปคิดค้นเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือไม่ก็หาเรื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจความเป็นจริงที่เป็นอยู่รอบตัวเอง เลยทำให้รู้สึกว่า มีอะไรต้องคิดต้องทำมากเหลือเกิน จนเวลาไม่พอ ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของชาวบ้าน หรือไม่ก็เรื่องเพ้อฝันเกินตัว ตกที่สุด ชีวิตก็ถึงจุดสับสนเหมือนกัน

พ่อคิดว่า ชีวิตของผู้ที่เป็นมนุษย์ถูกกำหนดด้วยความคิดและแรงบันดาลใจ ผู้ที่หนักแน่นในหลักคิดที่ถูกต้อง และมีแรงศรัทธาต่อความดีที่อยู่ภายใน จะรู้ตัวเสมอว่าในสถานการณ์ใด ตนจะทำอย่างไรดี

อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอตามวิสัยมนุษย์ของเรา ก็เป็นเหตุทำให้เรารู้สึกหวั่นไหวโอนเอน การขาดแคลนความคิดและแรงบันดาลใจ ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งสับสนภายในชีวิตของตนเองได้ ความจองหองหรือความยึดมั่นถือมั่นในตนเองก็อาจทำให้เราเตลิดเปิดเปิงไปตกอยู่ในกระแสแห่งโลกและโลกีย์วิสัยได้โดยง่าย พอถึง ณ เวลาหนึ่ง เมื่ออะไรดูสับสนขัดแย้ง วุ่นวายใจ หรือว่างเปล่า ไร้ความหมาย น่าจะเป็นเวลาที่เราปล่อยให้ “พระจิตเจ้าผลักดันให้เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร” หาเวลาอันสงบเงียบ ไตร่ตรอง และต่อสู้กับตัวเอง เพื่อค้นหาหรือเพิ่มเติมความคิดและแรงบันดาลใจ เพื่อชีวิตที่เข้มแข็ง และมีคุณค่าที่จะดำเนินต่อไป

คำถามลงท้าย “เข้าเงียบครั้งสุดท้าย เมื่อใดหนอ?”

พ่อสุรสิทธิ์