บทสนทนาจากเจ้าอาวาส

สวัสดีครับ พี่น้องที่รักทุกท่าน

เรื่องน่าอ่าน       รายการมิสซาประจำสัปดาห์

เมื่อวันอังคารที่แล้ว พ่อไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เลยถือโอกาสไปหาหมอหลายคนหน่อย จะได้ไม่ต้องไปบ่อยๆ ตอนหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งรอคิว ก็ได้ยินเสียงเด็กเล็กคนหนึ่ง ร้องลั่นทีเดียวดังออกมาจากห้องตรวจ เสียงที่ร้องบ่งบอกว่า ทุกข์ทรมานเหลือเกินและร้องอยู่เป็นเวลานาน เสียงแม่ที่อยู่ข้างๆ ก็ดังออกมาด้วย กำลังปลอบและให้กำลังใจลูก พ่อคิดว่า แม่และลูกอาจทุกข์ทรมานพอๆ กัน แต่พ่อและคนไข้อื่นๆ ที่กำลังรอหมออยู่กลับรู้สึกนึกขำ สังเกตได้จากการอมยิ้มและพูดคุยกัน ตอนนั้น พ่อจึงจำคำเตือนสติของผู้ใหญ่คนหนึ่งในอดีตได้ ท่านเตือนว่า

“ความสุขของคนหนึ่ง อาจเป็นความทุกข์ของอีกคนหนึ่ง” หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราอาจกำลังเพลิดเพลินกับความสุข บนความทุกข์ของคนอื่นก็ได้

แต่กรณีของเด็กคนนี้ เราขำเพราะรู้อยู่ว่า สิ่งที่หมอกำลังทำอยู่ไม่ใช่การทรมาน แต่เป็นการรักษา เพียงแต่ เวลานี้ เด็กยังไม่รับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาคิดแต่ว่าอะไรที่ทำให้เจ็บปวด เป็นสิ่งไม่ดี คงเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อสำหรับเด็กถ้าเราจะบอกว่าความทุกข์ทรมานขณะนี้เป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตในอนาคต แต่ว่าไปแล้ว ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่อยากเชื่อเรื่องนี้เลย เพราะไม่เคยมองเห็นผลดีที่อาจเกิดขึ้น หลังจากผ่านความทุกข์ทรมานไปแล้ว หลายครั้ง ความทุกข์ทรมานไม่จบสิ้นไป แต่มันนำไปสู่สิ่งที่ดีหรือมีความหมายอีกสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นให้คุณค่ายิ่งใหญ่กว่าความทุกข์ทรมาน

อย่างไรก็ตาม พ่อพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความทุกข์ทรมานดีกว่าการเป็นผู้มีสุขภาพดี หรือสุขสบาย ตรงข้าม พื้นฐานของชีวิตที่บังเกิดคุณค่า ย่อมมาจากสุขภาพที่ดีโดยไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้ การรักษาสุขภาพเพื่อชีวิตที่มีค่า จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ในมุมมองหนึ่ง ความทุกข์ทรมานและการเป็นผู้มีสุขภาพดีนั้น มักเดินไปด้วยกัน

พ่อคิดถึงคำสอนของนักคิดคนหนึ่ง
“ยิ่งออกกำลังกาย ร่างกายยิ่งแข็งแรง
ความกดดันด้านจิตใจและอารมณ์ เสริมสร้างจิตใจที่แข็งแกร่ง
การทดลองของพระเจ้า เติมแต่งให้วิญญาณสัตย์ซื่อ”

การออกกำลังกาย ดูเผินๆ เหมือนทำให้เหน็ดเหนื่อย อ่อนแอ หลายคนมีความเกียจคร้านที่จะออกกำลังกาย เพราะรู้สึกว่าอยู่เฉยๆ สบายกว่า แต่ผลกลับเป็นตรงข้ามกับที่เห็นภายนอก คนที่เป็นผู้ใหญ่ย่อมหมายถึงคนที่สามารถจัดการกับอารมณ์และจิตใจของตนเองได้ดี ไม่ใช่คนที่เอาแต่อารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่ได้ดังใจ มีอันต้องเป็นเรื่องทุกที อย่างนี้ก็เป็นเหมือนเด็กตัวโตนั่นเอง ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ผ่านการทดลองต่างๆของพระเป็นเจ้า ย่อมเข้าใจมากขึ้น ถึงคุณค่าแห่งคุณธรรมความดีที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์แห่งความยากลำบากของชีวิต และยืนหยัดเพื่อรักษาคุณค่านั้นไว้ อย่างซื่อสัตย์มั่นคง

“ขอบคุณครับ พ่อมีสุขภาพดีพอสมควร” (ไม่มีใครถามสักหน่อย!) พ่อบอกไว้เผื่อมีใครสงสัยอยากรู้ คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาเคยสอนว่า “มนุษย์หิวโหยความรักมากกว่าขนมปัง” สุขภาพดีภายนอก ยังไม่สู้คุณค่าแห่งจิตใจที่อยู่ภายใน อะไรก็ตามที่เหมือนกับสิ่งที่ทำให้คนโรคเรื้อนในพระวรสารแสดงออกมาภายนอกว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมสามารถรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” สิ่งนี้น่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรออกแรงแสวงหา

 

พ่อสุรสิทธิ์