เรื่องน่าอ่าน       รายการมิสซาประจำสัปดาห์

สวัสดีครับ พี่น้องที่รักทุกท่าน

                     บางคน ชื่อจริงก็มี ชื่อเล่นก็มี แต่กลับถูกเรียกว่า “คุณหนู” แถมรู้ตัวเองหันกลับมาตอบสนองเสียงเรียกเสียด้วย “หนู” ในที่นี้ จึงไม่ใช่ชื่อคนที่ใช้คำว่า “คุณ” มาขึ้นต้นเพื่อเรียกอย่างสุภาพ เรามักได้ยินบ่อยๆ ในละครหรือภาพยนตร์ในบทของลูกผู้มั่งมี หรือชนชั้นสูง ที่มีชีวิตภายนอกอยู่อย่างสุขสบายอะไรทำนองนั้น พ่อจึงคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว คุณหนูเป็นชื่อเรียกพฤติกรรมหรือสภาพชีวิตของบุคคลบางประเภทเสียมากกว่า แต่เป็นสภาพชีวิตที่คนบางคนซึ่งถูกหลอกให้หลงใหลในมายา ลุ่มหลงอยากจะได้ อย่างลมๆ แล้งๆ คิดว่าชีวิตของคุณหนู จะอยู่อย่างสุขสบายจริงๆ คือเอาแต่นั่งๆ กินๆ นอนๆ หรือนั่งกิน นอนกิน มีคนป้อนน้ำป้อนข้าว เอาแต่เที่ยวเตร่ตามสบายไปวันๆ

                   พ่อกลับคิดว่า คนที่มีสภาพชีวิตแบบคุณหนูอย่างนี้ น่าจะเป็นชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายและน่าสงสาร เพราะเป็นชีวิตที่ว่างเปล่า มิหนำซ้ำ ยังเป็นชีวิตที่อาจมีแต่ความฟุ้งซ่าน คิดมาก จนคิดร้ายไปหมด เพราะตนเองไม่พบคุณค่าอะไรในชีวิตของตน จึงไม่เห็นและไม่อยากเห็นคุณค่าอะไรในชีวิตของคนอื่นด้วย
                   แปลกอยู่เหมือนกัน พ่อรู้สึกว่า บางเวลาที่คนเรามีการมีงานเยอะแยะให้ต้องทำ กลับเป็นเวลาที่ใจสงบนิ่ง ร่างกายและปัญญาอาจจะเหน็ดเหนื่อย แต่จิตใจไม่มีเวลาเอาไปคิดฟุ้งซ่าน เหลวใหล ตรงกันข้าม เวลาที่ไม่ค่อยมีงานทำ ไม่มีปัญหาให้แก้ ไม่มีอุปสรรคให้ข้าม จิตใจกลับปั่นป่วนวุ่นวายโดยง่าย หรือเรามีเวลามากเกินไป หรือเราใช้เวลาไม่เป็น หรือเรามันเป็นอะไร น่าสงสัยเสียจริง

                   อันที่จริง การงานมีคุณค่ามากกว่าผลผลิตที่เกิดขึ้น เพียงแต่ผู้คนมุ่งมองแต่ผลกำไร จนไม่สามารถมองเห็นอะไรที่เกิดขึ้นในจิตใจ เพราะว่าไปแล้ว การงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปจนแยกจากกันมิได้ ประหนึ่งว่า ขาดงานคือขาดใจ
               “ความเกียจคร้าน” จึงเป็นศัตรูถาวรของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพราะมันทำให้เราไม่มีผลผลิตและกำไรจากการทำงาน แต่เป็นเพราะมันทำให้มนุษย์เข้าใจผิดคิดว่าการรักสบายไม่ทำงานจะทำให้มนุษย์มีความสุขต่างหาก สำหรับบางคน พอใจที่จะมีงานทำ แม้ไม่มีค่าตอบแทนก็ตาม และจะทำอย่างมีความสุขด้วย อย่างไรก็ตาม ความเกียจคร้านก็จะวนเวียนอยู่รอบตัวเราเสมอ การจะต่อสู้กับมันก็ไม่ใช่เล่นเสียด้วย โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะเป็นคุณหนู

                   เจ้าของสวน เชิญชวนทุกคนที่พบว่าว่างอยู่ให้ทำงานในสวนองุ่น เพื่อให้ทุกคนพบว่าชีวิตของตนมีค่ามากกว่าที่ตนเองคิด อันที่จริง พ่อคิดว่าประเด็นของเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่เรื่องความยุติธรรมตามความคิดของลูกจ้าง หรือความใจดีของนายจ้าง เพราะเรื่องทั้งสองปรากฏชัดอยู่ในเรื่องราวแล้วว่า นายจ้างยุติธรรม รวมทั้งใจดี แต่อาจจะรวมความถึงการที่ใครคนหนึ่งกำลังเพลิดเพลินกับการอยู่อย่างสบายๆ ไม่ต้องทำงานอะไร แล้วสามารถกลับใจต่อสู้กับความเกียจคร้านจนได้ชัยชนะ หักใจไปทำงานในสวน คุณค่าของการกลับใจเช่นนี้นี่แหละ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็น ยิ่งคนที่เพลิดเพลินกับความสบายนานเท่าไร ก็ยิ่งยากที่จะกลับใจได้มากเพียงนั้น ทำงาน 1 ชั่วโมง จึงรับไปหนึ่งเหรียญเท่ากับคนที่ทำงานทั้งวัน เพราะหักใจไปทำงานนั้นยากกว่า
             พระผู้เป็นเจ้าให้คุณค่าแก่มนุษย์ไม่ใช่ที่ผลงานหรือความสำเร็จ แต่ที่ความพยายามและน้ำใจที่จะต่อสู้ เพื่อให้ชีวิตบังเกิดคุณค่ามากกว่า