ประวัติวัด

ชาวโปรตุเกส

วัดหลังแรก

วัดหลังที่ 2

วัดหลังที่ 3

วัดหลังที่สอง (ค.ศ. 1838-1890)

คุณพ่อ อัลบรังค์ มาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1815 ประจำอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ ท่านได้ติดต่อกับชาวจีนกลุ่มหนึ่ง และท่านได้ไปโปรดศีลล้างบาปให้ชาวจีนกลุ่มนั้นที่วัดอัสสัมชัญ ต่อมาในปี ค.ศ. 1837 ทานได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านพักพระสงฆ์ ณ  วัดกาลหว่าร์ เพื่อความสะดวกในการดูแลคริสตังชาวจีน ที่ทำมาค้าขายอยู่ในบริเวณนี้ และ ณ ที่นี้เอง ท่านได้สร้างศาลาใหญ่ ทำด้วยไม้ไผ่มุงแฝก เพื่อเป็นที่สอนคำสอนแก่คริสตังใหม่ด้วย

และมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งในระหว่างที่คุณพ่อกำลังโปรดศีลล้างบาปชาวจีน 6 คน มีผู้ร่วมพิธีจำนวนมาก ขณะที่ท่านเป่าลมเหนือพวกเขานั้นเอง วัดก็พังลงมา ผู้ร่วมพิธีตกลงไปใต้ถุนวัดทั้งหมด  คงเหลือเพียงคุณพ่อยืนอยู่คนเดียว เพราะท่านยืนบนธรณีประตู มีคนจีนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ลมพระจิตเจ้าช่างแรงจริง ๆ”

จากนั้น พณฯ กูรเวอซี่ จึงสั่งให้รื้อวัดหลังแรก เพราะไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว และให้สร้างวัดหลังที่ 2 เป็นครึ่งอิฐครึ่งไม้ กำแพงอิฐสูงเท่าตัวคน ปิดชั้นบนด้วยเสาไม้เรียงกัน และได้ทำหอระฆังด้วยอิฐ ตั้งอยู่ใกล้ ๆ แยกจากตัววัด พระคุณเจ้า ปัลเลอกัว   ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยมาตั้งแต่ปี 1838 ได้ทำพิธีเสก ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1839 ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระลูกประคำ และตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดแม่พระลูกประคำ” ทำให้ชาวโปรตุเกสพอใจเป็นอย่างมาก เพราะรูปแม่พระลูกประคำของเขาได้รับเกียรติให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดสืบมาจนทุกวันนี้

ส่วนรูปพระศพของพระเยซูเจ้านั้นก็ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี   โดยจะนำออกมาแห่รอบ ๆ วัด ปีละ 1 ครั้ง ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้กราบไหว้ นมัสการ ซึ่งเป็นที่ประทับใจและชวนศรัทธาแก่ชุมชนในละแวกนี้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม และพิธีนี้ก็ยังคงกระทำติดต่อกันมาตลอดทุกปีจนปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เองวัดแม่พระลูกประคำจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกาลหว่าร์”  อันหมายถึง  วัดของพระตาย  ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า กัลวารีโอ เนินเขาที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนสิ้นพระชนม์นั่นเอง

คุณพ่อ อัลบรังค์ ปกครองอยู่ถึงปี ค.ศ. 1846 จึงย้ายไปยังประเทศจีน และได้รับการอภิเษก เป็นพระสังฆราชที่นั่น

คุณพ่อ ดือปองค์ รับหน้าที่แทนคุณพ่อ อัลบรังค์ ท่านออกไปประกาศศาสนา ตามเมืองเล็กเมืองน้อยอยู่เป็นประจำ และท่านปกครองดูแลทำงานเทศน์สอน อยู่ประมาณ 18 ปีก็ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังในประเทศไทย

คุณพ่อ ดาเนียล ชาวฝรั่งเศส เข้ามาปกครองสืบต่อจาก คุณพ่อ ดือปองค์ ในปี ค.ศ. 1864 และในปีนี้เอง เกิดเพลิงไหม้บ้านพักพระสงฆ์ ซึ่งได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเอกสารต่าง ๆ ของวัด คุณพ่อ ดาเนียล ปกครองวัดอยู่ประมาณ 10 ปี ก็กลับฝรั่งเศส

คุณพ่อ ซาลาแด็ง ได้รับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อ ดาเนียล ในปี ค.ศ. 1874 นับเป็นคุณพ่อเจ้าวัดองค์ที่ 4 ประจำอยู่ 4 ปี แล้วย้ายไปเป็นเจ้าวัด วัดบางช้าง (วัดบางนกแขวก จ.ราชบุรี) จากนั้นก็มี คุณพ่อ ราบาร์แดล และคุณพ่อ โฟก มารับช่วงตำแหน่งติดต่อกันองค์ละ 2 เดือน ตามลำดับ

ในวัดหลังที่ 2 นี้เอง เจ้าหน้าที่สถานฑูตฝรั่งเศส จะมีที่นั่งสงวนไว้สำหรับพวกเขา เพราะเขาถือความสัมพันธ์ที่พวกเขามีอยู่อย่างแน่นแฟ้นกับชุมชนนี้ และธรรมเนียมนี้ก็ยังคงมีต่อมาแม้ในวัดหลังที่ 3 คือ หลังปัจจุบันก็ตาม และเป็นเช่นนี้จนกระทั่ง ภาษาไทย และภาษาจีน เข้ามาแทนที่ภาษาลาติน จึงเลิกธรรมเนียมนี้ไป