ประวัติวัด

ชาวโปรตุเกส

วัดหลังแรก

วัดหลังที่ 2

วัดหลังที่ 3

ชาวโปรตุเกสที่บางกอก

สมัยพระยาตาก (พระเจ้าตากสินมหาราช) : 1769 – 1782

หลังจากที่พระยาตากได้ขับไล่ทหารพม่า กอบกู้กรุงศรีอยุธยาเป็นผลสำเร็จ และได้ตั้งฐานอยู่ ณ บางกอก ในป้อมที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรียกว่า ธนบุรี นั่นเอง

ก)ที่วัดซางตาครู้ส

ปี 1769  คุณพ่อ กอร์ ซึ่งหนีภัยสงครามไปอยู่ที่เขมร เดินทางกลับมาบางกอกและได้พบปะกันกับบรรดาคริสตังชาวโปรตุเกส ที่อยู่ตามริมฝั่งเจ้าพระยา ท่านได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน นัยว่าบรรดาชาวโปรตุเกสคงจะได้ช่วยปราบกบฎ และต่อสู้กับทหารพม่ามาตลอด พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระราชทานที่ดินให้ท่านสร้างวัด เมื่อปี 1770 ท่านจึงสร้างวัดชั่วคราวหลังหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดซางตาครู้ส” และท่านจึงนำบรรดาคริสตังให้มาอยู่รวมกัน

ข)ที่ค่ายแม่พระลูกประคำ

ปี 1769 เช่นกัน  ชาวโปรตุเกสกลุ่มที่ไม่ยอมรับ และต่อต้านมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ก็ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางกอกด้วยเหมือนกัน โดยใช้ที่ดินว่างเปล่าเล็ก ๆ ผืนหนึ่ง   อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ถัดจากวัดซางตาครู้สลงไป และอยู่เหนือสถานฑูตโปรตุเกสเล็กน้อย ไม่ยอมอยู่รวมกับกลุ่มที่ซางตาครู้ส

ณ ที่นี้พวกเขาสร้างบ้านเล็ก ๆ เพื่อเป็นที่เก็บ “สมบัติ” และเป็นที่อยู่ของผู้ดูแลและใช้เป็นที่สวดภาวนาร่วมด้วย  “สมบัติ” ดังกล่าวนี้ ที่แท้คือ รูปแม่พระลูกประคำ ซึ่งพวกเขายกให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของสถานที่ จึงเรียกว่า “ค่ายแม่พระลูกประคำ” และรูปพระศพของพระเยซูเจ้า พวกเขาไม่ยอมให้รูปทั้งสองนี้ไปอยู่กับพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส โดยเขาหวังว่าวันหนึ่งจะมีพระสงฆ์ชาวโปตุเกสกลับมาดูแล

คริสตังที่อาศัยอยู่ ในค่ายแม่พระลูกประคำ ยังไม่มีวัด ยังไม่มีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกส พวกเขาจึงต้องไปร่วมพิธีทางศาสนาที่วัดซางตาครู้สด้วย ถึงแม้จะไม่เต็มใจก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่มาร่วมพิธีวัดซางตาครู้ส สมัยนั้นจึงมี: 

1.กลุ่มชาวโปรตุเกสที่ยอมรับอำนาจสันตะสำนัก และมีความสัมพันธ์กับบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสอยู่แล้วตั้งแต่อยู่ที่อยุธยา

2.กลุ่มชาวโปรตุเกส จาก “ค่ายแม่พระลูกประคำ” ที่ต่อต้านมิชชันนารีฝรั่งเศส แต่ก็เป็นคาทอลิก และรอคอยด้วยความหวังว่า จะมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสสักวันหนึ่ง แต่ก็จำเป็นที่จะมีพระสงฆ์ฝรั่งเศส เพื่อประกอบศาสนพิธีสำหรับเขา

3.กลุ่มชาวญวณที่อพยพมาจากอยุธยาด้วยกัน

ในปี 1773 คุณพ่อ กอร์ ถึงแก่มรณกรรม ในมิสซังสยามจึงมีมิชชันนารีเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระคุณเจ้า เลอบ๊อง  คุณพ่อ การ์โนลต์   คุณพ่อ กูเด ซึ่งถูกจับขังคุก ถูกล่ามโซ่อันเนื่องมาจากการเบียดเบียนศาสนา

ในปี 1775 ได้รับอิสรภาพ ทั้ง 3 ท่านกลับไปอยู่วัดซางตาครู้ส

ในปี 1778 ก็มีการเบียดเบียนศาสนาอีก  ทั้ง 3 ท่านจึงถูกไล่ออกจากประเทศเดินทางไปมะละกา ทำให้ไม่มีพระสงฆ์คาทอลิกเหลืออยู่ใกรุงสยามแม้แต่องค์เดียว

ครั้นสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงให้เรียกคณะมิชชันนารีกลับประเทศสยาม แต่ทาง คุณพ่อ กูเด ซึ่งขณะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ประมุขมิสซังสยามแล้ว แต่มิได้เดินทางกลับกรุงสยามทันที เพระท่านยังติดภาระกิจสอนชาวบ้านที่ ยงเซลัง (เกาะภูเก็ต) ให้กลับใจอยู่

เมื่อเป็นเช่นนั้น  ทางพระราชวังจึงส่งคนไปเชิญมิชชันนารีชาวโปรตุเกสจากมาเก๊า คุณพ่อ ฟรังซิสโก พระสงฆ์มิชชันนารี คณะดอมีนีกัน จึงเข้ามาในปี 1784 ท่านจึงเป็นพระสงฆ์คาทอลิกองค์เดียวที่มีอำนาจเต็มที่     บรรดาคริสตังที่เคยอยู่ในความดูแลของมิชชันนารีฝรั่งเศสจึงต่อต้านและไม่ร่วมมือ  บรรดาคริสตังโปรตุเกสที่ไม่ชอบฝรั่งเศสจึงได้ใจทำการวางอำนาจอย่างเต็มที่

ครั้นเมื่อพระคุณเจ้า กูเด กลับมาบางกอก ในปี 1784 พบว่าคริสตังแตกแยกกันอย่างใหญ่หลวง ท่านจึงได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับคุณพ่อ ฟรังซิสโกสงฆ์โปรตุเกส ซึ่งเมื่อคุณพ่อ ฟรังซิสโก ทราบความจริงว่า พระคุณเจ้า กูเด เป็นประมุขถูกต้องของกรุงสยาม ได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา  ท่านก็เข้ามานบนอบ  ขึ้นกับ พระคุณเจ้า กูเด และชักชวนพวกโปรตุเกสหัวรุนแรงให้ยอมรับ พระคุณเจ้า กูเด เป็นประมุข และเป็นผู้ปกครองดูแลวัดซางตาครู้ส แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก

ท่านหมดหวังที่ไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจของชาวโปรตุเกสหัวรุนแรงเหล่านี้ ท่านจึงตัดสินใจจากวัดซางตาครู้ส กลับไปมาเก๊าอย่างถาวร ส่วนพระคุณเจ้า กูเด ก็ได้ถึงแก่มรณภาพ ในวันที่ 8 มกราคม ปี 1785 นั้นเอง