หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ประวัติวัด

ชาวโปรตุเกส

วัดหลังแรก

วัดหลังที่ 2

วัดหลังที่ 3

วัดหลังที่ 3 (ค.ศ. 1897)

ปี ค.ศ. 1879 คุณพ่อ เดสซาลส์ มาปกครองวัดกาลหว่าร์ ได้พยายามบูรณะซ่อมแซมวัดหลังที่ 2 แต่ก็สุดที่จะกระทำได้ เพราะชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ทำการรื้อเสียเมื่อปี ค.ศ. 1890 และย้ายไปทำมิสซาที่ตึกบริเวณวัดแทน ระหว่างนั้นคุณพ่อได้พยายามวิ่งเต้นหาเงินเพื่อจัดสร้างวัดใหม่ขึ้นแทน

ความพยายามของท่านสัมฤทธิ์ผล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1891  ตรงกับวันฉลองวัดแม่พระลูกประคำ พณฯ สังฆราชเวย์ ได้กระทำพิธีเสกศิลาฤกษ์

การก่อสร้างวัดหลังใหม่ ซึ่งวางโครงสร้างอย่างถาวร มีความโอ่อ่า น่าภาคภูมิ ในรูปทรงศิลปะแบบนีโอโคธิก เป็นรูปกางเขนโรมัน หันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระแท่นหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ด้านในสุดของวัด เป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อน  เหนือพระแท่นมีพระรูปจำลองขนาดใหญ่ของพระแม่มารีอุ้มพระกุมาร   และกำลังมอบสายประคำให้นักบุญดอมีนีโก และนักบุญกาทารีนา แห่งซีแอนนา ถัดมาทางมุขด้านหน้าบริเวณพระแท่นนั้น มีพระแท่นเล็กตั้งไว้ตรงกันในมุขทั้ง 2 ด้าน โดยบริเวณเหนือพระแท่นเล็กด้านใต้เป็นพระรูปพระหฤทัยพระเยซูเจ้า และด้านเหนือเป็นรูปนักบุญยอแซฟ

นอกจากนั้น ตามผนังยังมีรูปปั้นนักบุญต่าง ๆ และรูป 14 ภาค แขวนไว้โดยรอบ ด้านหน้าวัดใกล้ประตูมีรูปเทวดา ถือเปลือกหอย บรรจุน้ำเสก สำหรับผู้เข้า-ออกวัด ใช้ทำสำคัญมหากางเขน ตั้งอยู่ทั้ง 2 ข้าง บริเวณเหนือหน้าต่างทุกบานจะมีกระจกสีส่องแสงสวยงาม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระคัมภีร์เก่าและใหม่ ควบคู่กันไป มองจากภายนอกจะเห็นยอดสูง ซึ่งเป็นหอระฆัง  บนยอดปักรูปกางเขนไว้ให้แลดูสง่างาม

วัดหลังนี้ ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐ ถือปูน ซึ่งเป็นลักษณะวิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น มิใช่การทำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นปัจจุบัน นัยว่า ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 ปี เงินในการก่อสร้าง 7 หมื่น 7 พันบาท ได้ทำการเสกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1897 ซึ่งในขณะนั้น มีสัตบุรุษ ชาย หญิง ทั้งสิ้นประมาณ 600 คน

ในสมัย คุณพ่อ เปอตีต์ เป็นเจ้าอาวาสวัดหลังนี้  ได้มีโอกาสใช้เป็นสถานที่สำหรับทำการอภิเษกคุณพ่อแปร์รอส เป็นพระสังฆราชเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1910 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งผู้แทนมาร่วมพิธีด้วย ในสมัย คุณพ่อ กิยู เป็นเจ้าอาวาส ได้ฉลองครบรอบ 25 ปีในวันที่ 1 ตุลาคม 1922    จัดฉลองครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 5 ตุลาคม 1947 ในสมัย คุณพ่อ โอลลิเอร์ เป็นเจ้าอาวาส ในสมัย คุณพ่อ อาแมสตอย เป็นเจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัด ทาสี ทั้งภายนอกและภายในวัด ให้ดูสวยงาม และสง่าขึ้น และได้จัดฉลองครบรอบ 60 ปี ของวัดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1957

คุณพ่อ ฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู   (ปัจจุบัน คือ พณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ถึงเดือนสิงหาคม 1965     นับป็นเจ้าอาวาสซึ่งป็นพระสงฆ์คนไทยองค์แรกของวัดกาลหว่าร์         และนับจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าอาวาสทุกองค์ของวัดกาลหว่าร์ก็ได้ถูกมอบหมายให้กับพระสงฆ์ไทย นับเป็นความภาคภูมิใจประการหนึ่งของวัดนี้

เหตุการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกิดขึ้น  ในสมัยที่ คุณพ่อ ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในระหว่างปี 1983 – 1989 นั่นคือ คุณพ่อได้บูรณะซ่อมแซมปรับปรุงสภาพของตัววัดซึ่งกำลังทรุดโทรมมาก ให้มีความสวยงามขึ้น โดยพยายามรักษารูปแบบตลอดจนลวดลายของเดิมไว้ให้มากที่สุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 1987 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี   ได้พระราชทานรางวัลประกาศนียบัตร อาคารอนุรักษ์ดีเด่นให้แก่ คุณพ่อ ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย ซึ่งเข้ารับพระราชทานรางวัลในฐานะเจ้าอาวาส นับว่าเป็นความภาคภูมิใจ ไม่เฉพาะของวัดและของสัตบุรุษวัดกาลหว่าร์เท่านั้น แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของพระศาสนจักรในประเทศไทย ที่มีส่วนในการอนุรักษ์ศิลปะที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติด้วย

ในสมัยที่ คุณพ่อ อนันต์ เอี่ยมมโน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี 1989 วัดกาลหว่าร์ก็กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่สัตบุรุษใหม่  ซึ่งโครงการนี้ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู ได้ให้บริษัท สันติพิทักษ์เข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินงานด้วย

ในปี 1994 คุณพ่อ อดุลย์ คูรัตน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่ออนันต์ คุณพ่ออดุลย์ได้ติดตามคริสตังที่ทิ้งวัด   จัดการทำพิธีแต่งงานกับคู่แต่งงานที่ไม่เรียบร้อย     รวมทั้งสอนคำสอนให้กับผู้ที่สนใจจำนวนมาก

ในปี 1995 คุณพ่อ วุฒิเลิศ แห่ล้อม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 21 ทำหน้าที่ดูแลปกครองวัดและโรงเรียน และในสมัยนี้เองได้จัดงานสมโภช 100 ปีของวัดหลังปัจจุบัน ในวันที่ 5 ตุลาคม 1997 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการซ่อมแซมกระจกสีช่องแสง ซึ่งถือเป็นงานศิลปะเก่าแก่ ทรงคุณค่า หาดูได้ยากแห่งหนึ่งในประเทศไทย  พร้อมกันนี้ได้มีการปรับปรุงบริเวณอาคารสถานที่ให้ดูสวยงามเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น

ในปี 2000 คุณพ่อ ศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 22 ท่านได้เปิดใช้อาคารปีติมหาการุญ 2000 อย่างเป็นทางการ และใช้ชั้นล่างเป็นศาลาตั้งศพและสวดอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ  พร้อมทั้งวางระเบียบการใช้ศาลาไว้อย่างเรียบร้อย    นอกจากนี้ ท่านยังได้ปรับโฉมภูมิทัศน์บริเวณริมน้ำหน้าวัดครั้งสำคัญ ด้วยการตัดแนวเขื่อนและรั้ว ซึ่งแต่เดิมมีรูปคดเคี้ยวให้เป็นแนวตรง ซึ่งทำให้บริเวณริมเขื่อนมีพื้นที่กว้างขวางขึ้นด้วย อีกทั้งยังทำให้บริเวณหน้าวัดดูเรียบร้อยและสวยงามขึ้นมาก พร้อมกันนี้ ท่านยังได้ปรับปรุงบริเวณรอบวัด โดยใช้วัสดุอิฐบล็อค ทำถนนและลานหน้าวัดอย่างสวยงาม อีกทั้งยังวางระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยประตูน้ำและเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับช่วงเวลาน้ำหลาก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ในส่วนของโรงเรียนกุหลาบวิทยา อันเป็นโรงเรียนภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ประจำวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) ท่านอุทิศตนบริหารโรงเรียนด้วยตนเอง ในตำแหน่งครูใหญ่ โดยพัฒนาระบบการบริหารให้ทันสมัยและให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและจะประกาศใช้ในอีกไม่ช้านี้

ในปี 2004 คุณพ่อ สุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 23 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ ในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2005 คุณพ่อมาร์แซล เปแรย์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้เสียชีวิตลงอย่างไม่คาดคิดด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ท่านอยู่ประจำวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) นี้มาเป็นเวลามากกว่า 40 ปี ท่านให้บริการศีลอภัยบาป และศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ด้วยความขันแข็ง ท่านยังเป็นผู้จัดทำบันทึกสำมะโนครัวคริสตัง และทะเบียนศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบระบบด้วยความมานะอุตสาหะยิ่ง  ท่านเป็นที่รักอย่างมากและจะยังเป็นที่รักของบรรดาสัตบุรุษตลอดไป    ศพของท่านได้รับการบรรจุไว้ในสุสานวัดนักบุญเปโตร สามพราน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ คือ ในปี 2006  โดยความเห็นชอบและการสนับสนุนของพระคุณเจ้า มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราช และซิสเตอร์รวงกาญจนา ชินะผา เจ้าคณะแขวงคณะอูร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารโรงเรียนกุหลาบวัฒนา มาตลอด 80 ปีที่ผ่านมา บัดนี้ โรงเรียนกุหลาบวัฒนา ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ได้เข้าควบรวมกิจการกับโรงเรียนกุหลาบวิทยา ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ประจำวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) จึงมีผลทำให้โรงเรียนทั้งสองรวมเป็นโรงเรียนเดียว และเป็นโรงเรียนสหศึกษา พร้อมกับการเปิดแผนกอนุบาล      และเริ่มขยายภาคการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วย