หน้าหลักเกี่ยวกับวัดบุคลากรบริการLinks

ประวัติวัด

ชาวโปรตุเกส

วัดหลังแรก

วัดหลังที่ 2

วัดหลังที่ 3

ประวัติความเป็นมาของ
วัดแม่พระลูกประคำ (วัดกาลหว่าร์)

 

“วัดกาลหว่าร์”   เป็นวัดเก่าแก่มีความเป็นมาจะเรียกได้ว่าพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว จากประวัติศาสตร์ ทำให้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นวัดคาทอลิกคู่กรุงรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้

เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง  ต้องรู้จักที่มาของ “คาทอลิก” ในประเทศไทยเสียก่อน ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อยุธยา ก่อนที่พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศจะมาถึงนานพอดู และพวกนักบวชคณะต่าง ๆ เช่น คณะดมีนีกัน และคณะอื่น ๆ จึงเข้ามาภายหลัง และแต่ละคณะก็จะมีการสร้างวัด และบ้านของตนเอง

ครั้นเมื่อทางสันตะสำนัก (กรุงโรม) ประกาศแต่งตั้งประมุขมิสซังสยาม อันได้แก่ คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส จึงทำให้ชาวโปรตุเกสแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งยอมรับอำนาจการปกครองของบรรดาประมุชมิสซังฯ ส่งบุตรหลานเข้าเรียน และช่วยเหลือกิจการของมิสซัง เช่น  ที่บ้านเณรเล็กนักบุญยอแซฟ (บ้านเณรแห่งแรกในกรุงสยาม ที่อยุธยา) และบ้านเณรใหญ่  อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ยอมรับอำนาจของประมุขมิสซัง และชาวฝรั่งเศส จะยอมรับเฉพาะพระสงฆ์ชาวโปรตุเกส

ปี ค.ศ. 1767 ทหารพม่าบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา พวกพระสงฆ์โปรตุเกสยอมมอบตัวแก่ทหารพม่า ส่วนพระสังฆราช และพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสถูกจับเป็นเชลย วัดนักบุญยอแซฟถูกทำลาย ทรัพย์สมบัติถูกยึดไปมากมาย บรรดาคริสตังชาวโปรตุเกสและชาวญวณจำนวนหนึ่งที่รอดจากการถูกจับ หรือถูกฆ่า ได้พากันอพยพลงมายังบางกอก (กรุงเทพ) โดยล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา

กลุ่มชาวโปรตุเกส ที่ไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชประมุขมิสซัง ได้นำเอาทรัพย์สมบัติไปด้วย และในบรรดาสมบัติดังกล่าวนั้น มีรูปปั้นมีค่ายิ่งสองรูป รูปแรก คือ รูปแม่พระลูกประคำ (คือรูปที่ใช้แห่ทุก ๆ ปี ในโอกาสฉลองวัดในปัจจุบันนี้) อีกรูปหนึ่ง คือ รูปพระศพของพระเยซูเจ้า (ซึ่งใช้แห่กันทุกปี ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ จนปัจจุบัน)